คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2406-2408/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานตำรวจได้ข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินแก่ตน 500 บาทโดยกล่าวหาว่าเล่นการพนัน เมื่อผู้เสียหายขอให้เพียง 100 บาทก็ไม่พอใจ ทำร้ายผู้เสียหายและแกล้งจับโดยไม่มีอำนาจนำไปส่งสถานีตำรวจเช่นนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 337 วรรค 2, 309 วรรค 2 และ 295 โดยสำหรับความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 และความผิดฐานกรรโชกตามมาตรา 337 นั้น ผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้นแล้ว แม้จะยอมไม่เต็มตามที่ถูกเรียกร้องก็เป็นความผิดสำเร็จ ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา 148 เพียงแต่ผู้กระทำผิดมีเจตนาจะให้เขาส่งมอบทรัพย์สินให้ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ผู้ถูกข่มขืนใจจะไม่ยอมตามนั้นก็ตาม

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลรวมการพิจารณาพิพากษา โดยโจทก์ฟ้องทำนองเดียวกันว่าจำเลยทั้งสามเป็นตำรวจประจำหน่วยต่อต้านและปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ (ต.ป.ส.) จังหวัดสงขลา ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการปราบปรามในเขตจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิดได้ทั่วราชอาณาจักร ได้ร่วมกันกระทำผิดหลายบทหลายกรรม กล่าวคือ
ก. เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามมีปืนเป็นอาวุธ ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจนายไพศาล แซ่ซอ ให้มอบเงิน ๕๐๐ บาทแก่จำเลยโดยแกล้งกล่าวหาว่ามีการเล่นการพนันที่บ้านนายไพศาล ถ้าไม่ให้จะจับกุม นายไพศาลไม่ให้เงินตามจำนวนที่จำเลยต้องการ จำเลยก็ร่วมกันตบและชกต่อยนายไพศาลได้รับบาดเจ็บ
ข. ตามวันเวลาตามข้อ ก. จำเลยทั้งสามได้ทำให้ทรัพย์ของนายไพศาลเสียหาย คือ โต๊ะหัก แก้วและขวดแตก รวมราคา ๑๓๖ บาท
ค. ตามวันเวลาใน ข้อ ก. จำเลยทั้งสามมีปืนเป็นอาวุธฉุดคร่าจับกุมนายไพศาลไปสถานีตำรวจภูธรสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยไม่ปรากฏว่านายไพศาลได้กระทำผิด เป็นการข่มขืนใจนายไพศาลและทำให้นายไพศาลปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลเตราะบอน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๒๙๕, ๓๐๙, ๓๑๐, ๓๓๗, ๓๕๘, ๘๓
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่าจำเลยทั้งสามเข้าไปในร้านของผู้เสียหาย แล้วสิบตำรวจเอกอ้อมจำเลยพูดขอเงินผู้เสียหาย ๕๐๐ บาท ผู้เสียหายจะให้ ๑๐๐ บาท สิบตำรวจเอกอ้อมจำเลยตบหน้าผู้เสียหาย สิบตำรวจตรีสานิตย์จำเลย สิบตำรวจโทพินันท์จำเลยเข้าช่วยกระชากตัวผู้เสียหายขึ้นรถพาไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอสายบุรี สิบตำรวจโทพินันท์ยังเตะโต๊ะเก้าอี้ในร้านผู้เสียหายล้ม ทำให้โต๊ะ เก้าอี้และขวดพริกดองแตกเสียหาย แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘ พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗, ๓๐๙ วรรค ๒ , ๒๙๕ กระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๓๗ ซึ่งเป็นบทมีโทษหนัก จำคุกคนละ ๑ ปีกับมีความผิดตามมาตรา ๓๑๐ อีกกระทงหนึ่ง ลงโทษจำคุกคนละ ๖ เดือน สิบตำรวจโทพินันท์จำเลยยังมีความผิดตามมาตรา ๓๕๘ อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก ๔ เดือน รวมจำคุกสิบตำรวจเอกอ้อมจำเลย สิบตำรวจตรีสานิตย์ จำเลยคนละ ๑ ปี ๖ เดือน จำคุกสิบตำรวจโทพินันท์จำเลย ๑ ปี ๑๐ เดือน ลดโทษให้จำเลยคนละหนึ่งในสี่ตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกสิบตำรวจเอกอ้อมจำเลย สิบตำรวจตรีสานิตย์จำเลยคนละ ๑ ปี ๑ เดือน ๑๕ วัน จำคุกสิบตำรวจโทพินันท์จำเลย ๑ ปี ๔ เดือน ๑๕ วัน
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า สิบตำรวจเอกอ้อมจำเลยกระทำผิดจริงดังฟ้อง แต่สิบตำรวจโทพินันท์และสิบตำรวจตรีสานิตย์มิได้ร่วมกระทำผิดด้วย และฟังไม่ได้ว่าสิบตำรวจโทพินันท์เตะโต๊ะล้ม สำหรับสิบตำรวจเอกอ้อมได้ข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินให้แก่ตนในฐานะที่เป็นตำรวจ โดยกล่าวหาว่าผู้เสียหายเล่นการพนัน เมื่อผู้เสียหายไม่ให้เงิน สิบตำรวจเอกอ้อมก็ทำร้ายและจับผู้เสียหายไป เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะผู้เสียหายไม่ยอมให้เงิน พิพากษาแก้เป็นว่าสิบตำรวจเอกอ้อมจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๓๓๘ วรรค ๒, ๓๐๙ วรรค ๒ ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ และมาตรา ๒๙๕ กระทงหนึ่ง ลงโทษตามมาตรา ๑๔๘, ๘๐ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ ให้จำคุก ๓ ปี ๔ เดือน ความผิดตามมาตรา ๓๑๐ จำคุก ๖ เดือน รวมเป็นโทษจำคุก ๓ ปี ๑๐ เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เหลือโทษจำคุก ๒ ปี ๑๐ เดือน ๑๕ วัน ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะสิบตำรวจโทพินันท์ และสิบตำรวจตรีสานิตย์
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง
สิบตำรวจเอกอ้อมจำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงคงฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า สิบตำรวจเอกอ้อมจำเลยในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินแก่ตนโดยกล่าวหาว่าผู้เสียหายเล่นการพนัน เมื่อผู้เสียหายไม่มอบเงินให้ตามที่ตนต้องการ สิบตำรวจเอกอ้อมจำเลยก็ทำร้ายผู้เสียหายและแกล้งจับผู้เสียหายโดยไม่มีอำนาจ การกระทำของสิบตำรวจเอกอ้อมจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๓๓๗ วรรค ๒ และ ๓๐๙ วรรค ๒ เพราะสำหรับความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา ๓๐๙ และความผิดฐานกรรโชกตามมาตรา ๓๓๗ นั้น เมื่อผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้นแล้ว แม้จะยอมไม่เต็มตามที่ถูกเรียกร้อง ก็เป็นความผิดสำเร็จ ส่วนความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามมาตรา ๑๔๘ เพียงแต่ผู้กระทำผิดมีเจตนาจะให้เขาส่งมอบทรัพย์สินให้ ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว แม้ผู้ถูกข่มขืนใจจะไม่ยอมตามนั้นก็ตาม
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า สิบตำรวจเอกอ้อมจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๓๓๗ วรรค ๒, ๓๐๙ วรรค ๒ และ ๒๙๕ กระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๔๘ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ กับมีความผิดตามมาตรา ๓๑๐ อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุกสิบตำรวจเอกอ้อมสำหรับความผิดกระทงแรก ๕ ปี กระทงหลัง ๖ เดือน รวมเป็นโทษจำคุก๕ ปี ๖ เดือน เมื่อลดโทษ ๑ ใน ๔ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว คงเหลือโทษจำคุก ๔ ปี ๑ เดือน ๑๕ วัน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share