แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์ได้รับอนุญาตให้ถอนฟ้องฎีกาสำหรับลูกจ้างแล้วคดีเกี่ยวกับลูกจ้างเป็นอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าให้ลูกจ้างร่วมกับนายจ้างชำระเงินแก่โจทก์จำนวนหนึ่งอันเป็นการชำระหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้โจทก์ยังคงฎีกาให้นายจ้างรับผิดเพิ่มขึ้นนายจ้างก็ต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างเท่ากับจำนวนเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้น นายจ้างไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่าที่ลูกจ้างจะต้องรับผิด (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2524)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้าง จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยคันเกิดเหตุ ขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 28,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 เป็นเงิน 78,000บาท ยกฟ้องสำหรับโจทก์ที่ 4
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 60,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 เป็นเงิน 110,000บาท ยกฟ้องโจทก์ที่ 4
โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1ที่ 2 และที่ 3 น้อยกว่าความเสียหายที่แท้จริง ขอให้พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเพิ่มขึ้น
ก่อนส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 4 โจทก์ทั้งสี่ขอถอนฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ศาลฎีกาอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 4
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารถยนต์พิพาทแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 และจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เพิ่มขึ้นจากที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เพียงใดหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันกับจำเลยที่ 2และที่ 3 ชำระเงิน 60,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวนหนึ่ง และชำระเงิน 110,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อีกจำนวนหนึ่งหนี้ทั้งสองจำนวนนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างผู้กระทำละเมิด และเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 เท่ากับจำนวนเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือนายจ้างไม่ต้องรับผิดเกินกว่าที่ลูกจ้างจะต้องรับผิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเกินไปกว่าที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิด
พิพากษายืน