คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5046/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างและเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ว่านายจ้างกับลูกจ้างยังมีความผูกพันเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่หรือไม่ก็ตาม นายจ้างลูกจ้างจะทำข้อตกลงหรือสัญญาใด ๆ ซึ่งมีผลทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หาได้ไม่ ดังนั้น สัญญาที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำกับจำเลยนายจ้างสละสิทธิหรือไม่ติดใจเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลย ซึ่งหมายถึงค่าจ้างเพิ่มที่โจทก์จะพึงเรียกได้ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ไม่ใช่เป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างหรือเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ลูกจ้างจึงมีอำนาจที่จะสละสิทธิเรียกร้องได้
โจทก์จะได้รับค่าจ้างเพิ่มให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นจำนวนเท่าใด คู่ความยังโต้เถียงกันในเรื่องค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนและโจทก์บางคนมีสิทธิได้รับหรือไม่อยู่ ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้ต่อไป

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาคดีสองสำนวนเข้าด้วยกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่าโจทก์ทั้งยี่สิบแปดเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลแวนแซนด์วูด จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ปิดกิจการโรงพยาบาลจำเลยที่ ๒ และเลิกจ้างโจทก์ทุกคนโดยอ้างว่าเพื่อต้องการปรับปรุงกิจการของโรงพยาบาล การกระทำของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แต่ไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ขาดจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เงินเพิ่มและดอกเบี้ย ค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยทั้งสองให้การว่า เกิดเหตุแตกแยกในบุคคลากรของโรงพยาบาลจนไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยที่ ๑ ต้องปิดกิจการโรงพยาบาลจำเลยที่ ๒ และจ่ายเงินสะสมและค่าชดเชยให้โจทก์ โจทก์ทุกคนตกลงยินยอมไม่เรียกร้องสิ่งใดจากจำเลยที่ ๑ อีก และโจทก์ที่ ๑ มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์ส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างเกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตัวเลขตามบัญชีท้ายฟ้องไม่ตรงความจริงขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ที่ ๙ ขอถอนฟ้องศาลแรงงานกลางอนุญาตให้จำหน่ายคดีสำหรับโจทก์ที่ ๙
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ มิใช่นายจ้างโจทก์ จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์เพราะมีเหตุปั่นป่วนในโรงพยาบาล จำเลยที่ ๑ จำต้องปิดกิจการและเลิกจ้างโจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม สำหรับค่าจ้างเพิ่มให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทุกคนเว้นโจทก์ที่ ๑๘ ได้ทำบันทึกข้อตกลงไว้ว่าขอสละสิทธิหรือไม่ติดใจเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยที่ ๑ อีก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง โจทก์ที่ ๑๘ ลาออกจากงานด้วยความสมัครใจ มีสิทธิเรียกค่าจ้างเพิ่มย้อนหลังไป ๒ ปี เป็นเงิน ๒,๘๙๐ บาท และไม่ถือว่าจำเลยที่ ๑ จงใจผิดนัดจ่ายค่าจ้าง จึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ จ่ายค่าจ้างเพิ่มให้แก่โจทก์ที่ ๑๘ เป็นเงิน ๒,๘๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยคำขออื่นของโจทก์ที่ ๑๘ และฟ้องของโจทก์อื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจัยว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒(๔) และข้อ ๑๔ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕ นั้น คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดขึ้นโดยพิจารณาถึงการครองชีพ มาตรฐานการครองชีพ และข้อเท็จจริงอื่น ๆ ซึ่งลูกจ้างในแต่ละท้องถิ่นจะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ จึงเป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อความเป็นธรรมแก่ลูกจ้างและเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฉะนั้น ไม่ว่าในระหว่างที่นายจ้างกับลูกจ้างยังมีความผูกพันเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่ หรือสิ้นความผูกพันกันแล้วก็ตาม นายจ้างลูกจ้างจะทำข้อตกลงหรือสัญญาใด ๆ ซึ่งมีผลทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่าหรือน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หาได้ไม่ การที่โจทก์ที่ ๑ ทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย จ.๑๐, จ.๑๑ และโจทก์ที่ ๒ ถึง ๒๘ (เว้นแต่โจทก์ที่ ๑๘) ทำสัญญาไว้กับจำเลยที่ ๑ ตามเอกสารหมาย ล.๕ ว่าโจทก์สละสิทธิหรือไม่ติดใจเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยที่ ๑ อีก ซึ่งหมายความรวมถึงค่าจ้างเพิ่ม ซึ่งโจทก์จะพึงเรียกได้ตามกฎหมายนั้น จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยที่ ๑ ต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มในช่วง ๒ ปีที่ยังไม่ขาดอายุความตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางให้แก่โจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๒๗ (เว้นแต่โจทก์ที่ ๙ และโจทก์ที่ ๑๘) ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ นั้น ไม่ใช่เป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อเลิกจ้างหรือเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ลูกจ้างจึงมีอำนาจที่จะสละสิทธิเรียกร้องได้ เมื่อโจทก์ได้ทำเอกสารสละสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับค่าจ้างเพิ่มให้เท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของโจทก์แต่ละคนเป็นจำนวนเท่าใดนั้น คู่ความยังโต้เถียงกันในเรื่องค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนและโจทก์บางคนมีสิทธิได้รับหรือไม่อยู่ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นนี้ต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างเพิ่มให้แก่โจทก์ที่ ๑ ถึงโจทก์ที่ ๒๗ (เว้นโจทก์ที่ ๙ และที่ ๑๘) พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะในส่วนนี้ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share