คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2214/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระพุทธรูปของกลางเป็นของวัด การที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันซื้อพระพุทธรูปดังกล่าวจากพระภิกษุซ.ซึ่งจำวัดอยู่ในวิหาร โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่ทรัพย์สินของพระภิกษุซ.ก็เพื่อมิให้พระภิกษุซ.ขัดขวางจำเลยทั้งสองกับพวกเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกเอาพระพุทธรูปของกลางไปจากวิหาร จำเลยทั้งสองย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 335 ทวิ, 357 วรรคสาม และขอให้จำเลยร่วมคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ วรรคสอง วางโทษจำคุกคนละ 5 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลงโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยทั้งสองกระทำผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2525 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา นายจำลอง หอมระรื่น ได้ไปซื้อพระพุทธรูปของกลาง 2 องค์ของวัดโบสถ์ผู้เสียหายซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารจากพระภิกษุชั้น ใจหล่อ ซึ่งจำวัดอยู่ในวิหาร จากนั้นนายจำลองได้นำพระพุทธรูปของกลางไปจำหน่ายให้แก่นายกนก พิกุลเงิน ที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเงิน 6,000 บาท ในการที่นายจำลอยไปซื้อพระพุทธรูปของกลางและนำไปจำหน่ายนั้น จำเลยทั้งสองร่วมเดินทางไปกับนายจำลองตลอดเวลาและปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินชำระค่าพระพุทธรูปให้นายจำลอง และจำเลยทั้งสองรู้เห็นการกระทำของนายจำลองเกี่ยวกับการซื้อขายครั้งนี้ ทั้งในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองได้ให้การไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.8, ป.จ.9 โดยยอมรับว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกับนายจำลองซื้อพระพุทธรูปของกลางจากพระภิกษุชั้น ผลกำไรจากการจำหน่ายพระพุทธรูปของกลางนั้น จำเลยทั้งสองกับพวกแบ่งกันคนละ1,300 บาท ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกับนายจำลองซื้อพระพุทธรูปของกลางจากพระภิกษุชั้น ข้อที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าจำเลยทั้งสองมิได้รู้เห็นเป็นใจในการที่นายจำลองซื้อและจำหน่ายพระพุทธรูปของกลาง หรือจำเลยที่ 1 ได้ให้นายจำลองกู้ยืมเงิน 1,000 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าพระพุทธรูปของกลางนั้นจึงรับฟังไม่ได้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเอาพระพุทธรูปของกลางไปนั้น จำเลยทั้งสองมีเจตนาลักทรัพย์หรือไม่ โจทก์มีพระสมุห์ราตรี ถาวโร ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่า ตามปกติพระพุทธรูปของกลางประดิษฐานอยู่ในวิหารที่เกิดเหตุรวมกับพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ อีกหลายองค์ ในวันเกิดเหตุแท่นพระพุทธรูปของกลางมีรอยถูกงัด ศาลฎีกาเห็นว่า การที่พระพุทธรูปของกลางประดิษฐานอยู่ในวิหารรวมกับพระพุทธรูปอื่น ๆ โดยมีแทนรองรับซึ่งในการโยกย้ายพระพุทธรูปดังกล่าวต้องถึงกับงัดแท่นรองรับ เป็นการนำเคลื่อนที่จากเดิมในลักษณะผิดวิสัยธรรมดา และจำเลยทั้งสองกับพวกก็มีอาชีพซื้อและจำหน่ายของเก่าและร่วมกับนายจำลองซื้อและจำหน่ายพระพุทธรูปครั้งนี้ย่อมทราบดีว่าพระพุทธรูปของกลางเป็นของวัดซึ่งมีไว้สำหรับประชาชนสักการะบูชา ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุชั้นซึ่งอาศัยจำวัดอยู่ในวิหาร โดยเฉพาะตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้พระพุทธรูปของกลางไปนั้น ก็รีบนำไปจำหน่ายที่ต่างจังหวัดแก่บุคคลที่จำเลยทั้งสองรู้จักในวันเดียวกันนั้นเองส่อให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสองกับพวกอย่างชัดแจ้งว่า ได้พระพุทธรูปของกลางไปจากวัดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น การที่จำเลยทั้งสองกับพวกซื้อพระพุทธรูปของกลาง จากพระภิกษุชั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เป็นทรัพย์สินของพระภิกษุชั้น ซึ่งพระภิกษุชั้นไม่มีอำนาจจำหน่ายแก่จำเลยทั้งสองกับพวกได้ ก็เพื่อประสงค์มิให้พระภิกษุชั้นขัดขวางจำเลยทั้งสองกับพวกเท่านั้น หาใช่เป็นการซื้อและจำหน่ายกันโดยสุจริตเข้าใจผิดในเรื่องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์พระพุทธรูปของกลางไม่ จำเลยทั้งสองไม่อาจอ้างว่าได้กระทำโดยสุจริต ส่วนข้อที่จำเลยทั้งสองกับพวกเอาพระพุทธรูปของกลางไปในเวลากลางวันและนำภรรยาและบุตรไปด้วย ไม่เป็นเหตุที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ของจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share