แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ส.เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยร่วม ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้จำเลยร่วมชำระโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึง ส.ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยร่วม ถือได้ว่าจำเลยร่วมได้รับหนังสือให้ชำระภาษีอากรดังกล่าว ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคแรก แล้ว หากจำเลยร่วมเห็นว่าการประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไรก็ชอบจะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากรมาตรา 30 แต่จำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว หนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวย่อมเด็ดขาด
โจทก์ได้แนบสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันประชุมสามัญครั้งที่ตั้งบริษัทมาท้ายฟ้อง แต่จำเลยที่ 3 หาได้โต้แย้งคัดค้านความไม่ถูกต้องของสำเนาเอกสารดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 125 ไม่ ยิ่งกว่านั้นสำเนาเอกสารดังกล่าว นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้รับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารดังกล่าว ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบพยานถึงความถูกต้องของสำเนาเอกสารดังกล่าวก็รับฟังเอกสารดังกล่าวได้
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ชำระค่าหุ้นที่จำเลยทั้งสามยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าหุ้นที่จำเลยแต่ละคนถืออยู่เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยร่วมจึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อมาชำระภาษีอากร ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 167 (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ เมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.1/1037/2/04986 และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายที่ ต.1/1037/1/02013 ให้จำเลยร่วมชำระเงิน283,490 บาท และ 40,025.62 บาท ตามลำดับ ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.28 และ จ.29 จำเลยร่วมได้รับหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2529 นอกจากนี้เจ้าพนักงานประเมินยังมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.1/1037/2/05150 และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายที่ ต.1/1037/1/225596 ให้จำเลยร่วมชำระเงิน 122,976 บาท และ 1,486.43 บาท ตามลำดับ ภายใน 30 วันนับแต่วันรับหนังสือดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.60 และ จ.61 จำเลยร่วมได้รับหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2529 ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินภาษีอากร ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้จำเลยร่วมทราบจึงถือได้ว่าเป็นการสั่งบังคับตามกฎหมายเพื่อให้ลูกหนี้ใช้หนี้ค่าภาษีอากรตามที่เรียกร้อง อันมีผลให้ลูกหนี้อาจต้องถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล การสั่งบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้ทำการอันใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันเพื่อให้ใช้หนี้ตามที่เรียกร้อง ดังที่บัญญัติไว้ในป.พ.พ.มาตรา 167 (เดิม) ซึ่งมีผลทำให้อายุความสิทธิเรียกร้องหนี้ค่าภาษีอากรตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลหัก ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.28 จ.29 สะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 9 มกราคม2529 และสิทธิเรียกร้องหนี้ภาษีอากรตามหนังสือภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.60 และ จ.61สะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2529 แล้วเริ่มนับอายุความใหม่เมื่อพ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2529 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2529ตามลำดับ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามเอกสารหมาย จ.28 และ จ.29 จึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2529 ส่วนสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามเอกสารหมายจ.60 และ จ.61 เริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 จึงยังไม่ล่วงพ้นกำหนดอายุความ 10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ