คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2230/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้กระทำในช่วงเวลาที่โจทก์ถูกศาลสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินย่อม ตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 และ 24 ดังนั้นการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113(เดิม)ไม่มีผลบังคับ การซื้อขายที่ดินพิพาทก่อนโจทก์มีสถานะเป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ไม่อาจฟังว่ามีการซื้อขายที่ดินพิพาท คดีแพ่ง การยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้เป็นการปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ จำเลยจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การ ว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะเหตุใด จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์จะต้องเรียกร้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ ได้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือภายในกำหนด 10 ปี นับแต่ เวลาสิทธินั้นได้มีขึ้นฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โดยมิได้แสดงให้ ชัดแจ้งว่าคดีขาดอายุความเรื่องอะไรและเพราะเหตุใด คำให้การ ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาเรื่องอายุความ จึงชอบแล้ว การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จะต้องแสดง อาการยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อตนจริง ๆ โดยสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ลำพังการมีชื่อ เป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดและการเสียภาษีบำรุงท้องที่ย่อม มิใช่เป็นการครอบครองที่ดิน ที่ดินที่พิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 102174 แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นโฉนดเลขที่ 102175 ก็เนื่องจากการพิมพ์ผิดพลาดจากเลข 4 เป็นเลข 5 มาแต่แรก จึงเป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย ดังนี้ศาลอุทธรณ์ย่อมมี อำนาจแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก กรณีหาใช่โจทก์นำสืบแตกต่างกับ ฟ้องหรือจำเลยหลงต่อสู้แต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 102164 และ 102175 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง)อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ก่อนวันที่7 กรกฎาคม 2519 โจทก์นำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปวางเป็นประกันหนี้แก่จำเลยและลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้จำเลยไว้ด้วย ต่อมาโจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วจึงทวงถามให้จำเลยส่งมอบโฉนดคืน แต่จำเลยเพิกเฉยประมาณกลางปี 2537 โจทก์ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2520 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่โจทก์ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ทวงถามให้จำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อจำเลยกลับมาเป็นชื่อโจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 102164 และ 102175ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง)จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมกับส่งมอบโฉนดที่ดินคืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จากโจทก์โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ติดตามทรัพย์พิพาทคืนภายใน 1 ปี นับแต่รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืน หรือภายใน 10 ปีนับแต่สิทธินั้นมีขึ้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 102164 และ 102175ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง)จังหวัดสมุทรปราการ ที่ทำการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2520พร้อมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงคืนโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้แก้หมายเลขโฉนดที่ดินเลขที่ 102175 ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 102174ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง)จังหวัดสมุทรปราการ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าเดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 102164 และ 102174ตำบลสำโรงใต้ (สำโรง) อำเภอพระประแดง (พระโขนง)จังหวัดสมุทรปราการ เป็นของโจทก์ ต่อมาโจทก์ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2519 แล้วพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายในปี 2520 ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2535 และปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่มอบอำนาจให้จำเลยจัดการขายที่ดินพิพาทให้แก่ตัวจำเลยเอง ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2520 หนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2520 และสารบัญจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2520เช่นเดียวกัน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้กระทำในช่วงเวลาที่โจทก์ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22 และ 24 ดังนั้นการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (เดิม) ไม่มีผลบังคับ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเนื่องจากโจทก์เป็นหนี้จำเลยและขายที่ดินพิพาทแทนการชำระหนี้ก่อนโจทก์มีสถานะเป็นบุคคลล้มละลายแม้จำเลยไปรับโอนที่ดินพิพาทภายหลังโจทก์เป็นบุคคลล้มละลายก็มิได้ทำให้นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเสียไป กรณีไม่ตกอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 22 นั้น เห็นว่า การซื้อขายที่ดินพิพาทก่อนโจทก์มีสถานะเป็นบุคคลล้มละลายตามที่จำเลยอ้าง หากมีจริงก็มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 จึงเสียไปไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ไม่อาจฟังว่ามีการซื้อขายที่ดินพิพาทตามที่จำเลยอ้าง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่าการยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า การยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้นั้นเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ จำเลยจะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความเพราะเหตุใด แต่จำเลยให้การแต่เพียงว่าโจทก์จะต้องเรียกร้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือภายในกำหนด 10 ปี นับแต่เวลาสิทธินั้นได้มีขึ้น ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โดยมิได้แสดงให้ชัดแจ้งว่าคดีขาดอายุความเรื่องอะไรและเพราะเหตุใด คำให้การของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่เห็นว่า การได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น จะต้องแสดงอาการยึดถือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อตนจริง ๆ โดยสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี แต่จำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจำเลยไม่เคยทำประโยชน์ใด ๆ เลยแสดงว่าจำเลยมิได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยจึงมิได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โฉนดที่ดินพิพาทมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และจำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินพิพาทเท่ากับว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้วนั้น เห็นว่า ลำพังการมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในโฉนดและการเสียภาษีบำรุงท้องที่มิใช่เป็นการครอบครองที่ดิน ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบว่าจำเลยเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินพิพาทตามที่จำเลยฎีกา
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เลขที่โฉนดที่ดินพิพาทจากเลขที่ 102175 เป็นเลขที่ 102174 โดยถือเป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรก เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าที่ดินที่พิพาทกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 102174 แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นโฉนดเลขที่ 102175ก็เนื่องจากการพิมพ์ผิดพลาดจากเลข 4 เป็นเลข 5 มาแต่แรกจึงเป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคแรกหาใช่โจทก์นำสืบแตกต่างกับฟ้องหรือจำเลยหลงต่อสู้แต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน

Share