แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ทายาทของ ป.แต่เพียงผู้เดียวขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ให้โจทก์มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยโต้แย้งและรบกวนสิทธิของโจทก์ คดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขายเพียงแต่ขอให้ศาลพิพากษาแสดงสิทธิว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทเท่านั้นจำเลยยังไม่ได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์หรือกระทำสิ่งใดอันจะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษา ยกฟ้อง ดังนี้ เมื่อคดีก่อนเป็นเรื่องที่ศาลพิจารณาฟ้อง ของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยที่ 1ยังมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย ประเด็นแห่งคดีเป็นคนละอย่างกัน คือคดีก่อนมีประเด็นว่าโจทก์จะมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายได้หรือไม่ ประเด็นที่วินิจฉัยของคดีทั้งสองไม่ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นภรรยา ของนายบุญมา มะโนเอื้อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นบุตรของนายบุญมา เมื่อวันที่ 19พฤษภาคม 2519 นายบุญมาและจำเลยที่ 1 ร่วมกันทำสัญญาขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ให้แก่โจทก์ในราคา 55,000 บาท โจทก์ชำระเงินให้แก่นายบุญมาและจำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาจำนวน 28,000 บาท ต่อมาวันที่1 กรกฎาคม 2525 หลังจากนายบุญมาถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลืออีก 27,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายให้โจทก์อีกฉบับหนึ่งกับมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และที่ดินให้โจทก์ครอบครองเป็นเจ้าของจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 13 ปีเศษแล้ว โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย โจทก์ประสงค์จะให้จำเลยทั้งหก ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายบุญมาจดทะเบียนโอนที่ดินที่ซื้อขายให้แก่แต่จำเลยทั้งหกไม่ยอม อ้างว่าจะนำไปแบ่งปันกัน ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตาม น.ส.3 ก. ที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งหกในฐานะทายาทของนายบุญมาจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมจดทะเบียนให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 ให้การว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นางเหล็ก บำรุงเอื้อทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1, ที่ 2 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 254/2533 ของศาลชั้นต้นนั้น โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ในคดีนี้เพียงผู้เดียวเป็นจำเลยว่าโจทก์ซื้อที่ดินตาม น.ส.3 ก.แปลงเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จากนายบุญมาสามีของจำเลยที่ 1และได้ชำระเงินให้นายบุญมามาเรียบร้อยแล้ว นายบุญมาได้มอบที่ดินที่ซื้อขายให้โจทก์ครอบครองทำกินตั้งแต่วันที่ชำระราคาเรียบร้อยโดยตกลงว่าจะไปทำการโอนให้ในภายหลังแต่ไม่ทันได้โอน นายบุญมาก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน หลังจากนายบุญมาถึงแก่กรรมแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไว้อีกฉบับหนึ่ง แสดงเจตนายินยอมขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขายที่นายบุญมาทำไว้ โจทก์คงครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเรื่อยมาและได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้หลายครั้ง แต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามครั้งสุดท้ายเมื่อโจทก์บอกกล่าวอีก จำเลยไม่ปฏิบัติตามแล้วยังอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ให้โจทก์ออกไปจากที่พิพาทโจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ให้โจทก์มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยโต้แย้งและรบกวนสิทธิของโจทก์คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาซื้อขายเพียงแต่ขอให้ศาลพิพากษาแสดงสิทธิว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองและเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทเท่านั้น จำเลยยังไม่ได้กระทำสิ่งใดอันเป็นรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์หรือกระทำสิ่งใดอันจะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายืนให้ยกฟ้อง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลยอ้างมูลเหตุเดิมและอ้างต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิได้รับโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายที่นาย บุญมา และจำเลยที่ 1ทำไว้กับโจทก์ จำเลยทั้งหกซึ่งเป็นทายาทของนายบุญมาไม่ยอมจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกจะนำไปแบ่งปันกัน จึงฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และบังคับให้จำเลยทั้งหกในฐานะทายาทของนางบุญมาเจ้ามรดกจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า คดีก่อนเป็นเรื่องที่ศาลพิจารณาฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากจำเลยที่ 1 ยังมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย ประเด็นแห่งคดีเป็นคนละอย่างคือคดีเรื่องก่อนมีประเด็นว่าโจทก์จะมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายได้หรือไม่ ประเด็นที่วินิจฉัยของคดีทั้งสองไม่ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะต้องห้ามฟ้องร้องตามมาตรา 148ฟ้องของโจทก์จึงไม่ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 254/2533ของศาลชั้นต้น
พิพากษายืน