คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2390/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์อ้างในคำฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสี่คัดค้าน การรังวัดที่ดินของโจทก์โดยอ้างว่า มีทางสาธารณะในที่ดินโจทก์ กว้าง 3 วาซึ่งความจริงไม่มีทางสาธารณะในที่ดินโจทก์เลย ขอให้ พิพากษาว่าที่ดินที่จำเลยอ้างว่าเป็นทางสาธารณะเป็นที่ดินโจทก์ โดยโจทก์มิได้อ้างมาในคำฟ้องว่า ทางสาธารณะกว้างเพียงใด แต่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงที่ได้นำสืบ ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โจทก์จึงหยิบยกขึ้นฎีกาได้ โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ ทางพิจารณาข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ด้านทิศใต้ของที่ดินโจทก์เป็นทางสาธารณะกว้าง 2 วา ยาวตลอดแนว ที่ดินโจทก์เท่ากับว่าที่ดินพิพาทกว้าง 1 วา ยาวตลอดแนวที่ดินของ โจทก์เป็นของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็น ของตนทั้งหมดแต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้ในส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นได้ มิใช่เป็นการพิพากษาให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฎ ในคำฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางสาวทองทิพย์ รักษากิจ เป็นผู้ดำเนินคดีแทน คดีนี้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่า 5 แปลงตั้งอยู่ที่ตำบลผักไห่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อ ต่อมาโจทก์ได้นำที่ดินแปลงที่ 1 ถึงที่ 4 ไปแจ้งการครอบครองเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน เนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 50 วาตามแผนที่สีดำท้ายฟ้อง เอกสารหมายเลข 7 ส่วนที่ดินแปลงที่ 5 ปรากฏตามแผนที่สีน้ำเงิน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 เมื่อ พ.ศ. 2526 โจทก์ยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงและได้นำรังวัด จำเลยทั้งสี่ได้คัดค้านว่าโจทก์นำรังวัดด้านทิศใต้รุกล้ำที่ดินที่เป็นทางสาธารณะกว้าง 3 วา ยาว 4 เส้น เนื้อที่ประมาณ 240 ตารางวา ราคา 24,000 บาทตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 และ 8 ความจริงที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทางสาธารณะแต่เป็นทางที่โจทก์เคยเว้นทางเดินไว้กว้างประมาณ1 วา ยาวตลอดเนื้อที่ 4 เส้นเศษ เพื่อให้คนงานของโจทก์ใช้เป็นทางเดินเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 3 คัดค้านดังกล่าว สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงไม่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีคำสั่งให้โจทก์นำคดีมาฟ้องศาลเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ทางสาธารณะ ห้ามจำเลยทั้งสี่คัดค้านการขอออกโฉนดที่ดิน ถ้ามีการคัดค้านไปแล้วก็ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยถอนคำคัดค้านเสียหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาทางสาธารณประโยชน์ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะและทางกระบือ เมื่อโจทก์แจ้งการครอบครอง โจทก์ก็ระบุไว้ว่าเป็นทางสาธารณะ เมื่อโจทก์ขอออกโฉนดที่ดิน โจทก์ได้นำชี้รุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณะ จำเลยที่ 1ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานจึงไม่อาจรับรองแนวเขตของโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามหน้าที่หรือในฐานะส่วนตัว
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวทองทิพย์ รักษากิจ ซึ่งเป็นทายาทขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องการรบกวนการครอบครองเกิน 1 ปี นับแต่เวลาถูกรบกวน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 5 แปลง ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลผักไห่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยซื้อมาจากผู้มีชื่อที่ดินสี่แปลงแรกปรากฏตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5 ส่วนที่ดินแปลงที่ 5 ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายต่อกัน ที่ดินทั้งห้าแปลงมีเขตติดต่อกัน เมื่อมีการแจ้งการครอบครองเพื่อออก ส.ค.1 โจทก์ได้แจ้งการครอบครองที่ดินสี่แปลงแรกเป็นที่ดินผืนเดียวกันตาม ส.ค.1 เลขที่44 เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 1 เมื่อ พ.ศ. 2523 โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโจทก์นำชี้เพื่อรังวัดออกโฉนด จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ยอมรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้ จำเลยที่ 3 ยังไม่นำชี้ว่าที่ดินด้านทิศใต้ที่โจทก์นำชี้ว่าเป็นของโจทก์เนื้อที่กว้าง 3 วา ยาวตลอดแนวที่ดินของโจทก์ประมาณ 4 เส้นเป็นทางสาธารณะ ปรากฏตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1 เส้นสีเขียว ซึ่งความจริงทางสาธารณะทางด้านทิศใต้ของที่ดินโจทก์กว้างเพียง 2 วา โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเนื้อที่กว้าง 3 วา ยาวตลอดแนวที่ดินของโจทก์ประมาณ 4 เส้น ไม่เป็นทางสาธารณะ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า เป็นทางสาธารณะกว้างเพียง 1 วา และโจทก์ยอมให้เป็นสาธารณะกว้าง 2 วา จึงให้ยกฟ้องของโจทก์เสียนั้นไม่ชอบ ขอให้พิพากษาว่าด้านทิศใต้ที่ดินของโจทก์มีทางสาธารณะกว้างเพียง 1 วา ทางพิพาทนอกนั้นมาทางทิศเหนือกว้าง 2 วา เป็นที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสี่แก้ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าทางสาธารณะกว้างเพียงใด โจทก์มิได้อ้างมาในคำฟ้อง และไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์โจทก์จึงฎีกาไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์อ้างมาในคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่คัดค้านการรังวัดที่ดินของโจทก์โดยอ้างว่า มีทางสาธารณะในที่ดินโจทก์กว้าง 3 วา ซึ่งความจริงไม่มีทางสาธารณะในที่ดินโจทก์เลย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินที่จำเลยอ้างว่าเป็นทางสาธารณะเป็นที่ดินของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้พิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่ามีทางสาธารณะในที่ดินของโจทก์กว้างเพียงใดนั้น เป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ดังกล่าว โจทก์จึงหยิบยกขึ้นฎีกาได้ ส่วนปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นทางสาธารณะส่วนหนึ่ง แต่โจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ทั้งหมด ไม่ได้ตั้งประเด็นว่าทางสาธารณะกว้างเพียงใด โจทก์จึงไม่อาจชนะคดี ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้สิ่งใด ๆเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ ฯลฯ
(2) ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมดแต่พิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้ในส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้ ฯลฯ”
สำหรับคดีนี้เห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ขอออกโฉนด จำเลยคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ไม่ใช่ทางสาธารณะ แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าด้านทิศใต้ของที่ดินโจทก์เป็นทางสาธารณะกว้าง 2 วา ยาวตลอดแนวที่ดินโจทก์ จึงเท่ากับว่าที่ดินพิพาทกว้าง1 วา ยาวตลอดแนวที่ดินของโจทก์เป็นของโจทก์ กรณีจึงต้องตามบทบัญญัติมาตรา 142(2) ดังที่กล่าวแล้ว ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียทั้งหมดนั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งที่เป็นของโจทก์ตามที่ปรากฏในทางพิจารณาดังกล่าวแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ด้านทิศใต้ของที่ดินโจทก์เป็นทางสาธารณะกว้าง 2 วา ยาวตลอดที่ดินโจทก์ ทางพิพาทนอกจากนั้นมาทางทิศเหนือกว้าง 1 วา เป็นที่ดินโจทก์ห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 3 คัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ในส่วนนี้.

Share