แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท อ. ตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาอาวุโส ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนตั้งบริษัท ค. ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้าง อันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้างแม้ไม่ปรากฏว่าบริษัทที่โจทก์ก่อตั้งได้แย่งลูกค้าของนายจ้างหรือมีลูกค้าไปใช้บริการของบริษัทโจทก์ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 119(2) และมาตรา 67 แก่โจทก์ แม้ พ. ผู้ลงนามในหนังสือเลิกจ้างในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนายจ้างและ จ. ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายและบริการธุรกิจของบริษัทนายจ้าง จะได้ร่วมกันตั้งบริษัทอื่นซึ่งมีกิจการอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้างเช่นเดียวกับโจทก์ ก็เป็นเรื่องที่นายจ้างจะไปว่ากล่าวแก่บุคคลทั้งสองเองมิได้มีผลทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ประจำสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงกรุงเทพมหานคร โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทแอลวีเอ็ม (เอเซีย) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม2539 ตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาระบบคุณภาพ ไอเอสโอ 9000 ต่อมาเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2543 บริษัทแอลวีเอ็ม (เอเซีย) จำกัด ได้เลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินต่าง ๆ ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2543 โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงว่านายจ้างเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยได้มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ ตามคำร้องจากนายจ้างโดยวินิจฉัยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการทำธุรกิจแข่งขันกับนายจ้างถือเป็นปฏิปักษ์ต่อนายจ้างโดยตรงและทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายจากการประมูลงานโครงการโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน กล่าวคือตามที่พนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทแอลวีเอ็ม (เอเซีย) จำกัด ตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสรู้ความลับของนายจ้างเกี่ยวกับเทคนิคทางวิชาการซึ่งเมื่อนำไปใช้แล้วจะสัมฤทธิ์ผลตามมาตรฐานไอเอสโอ 9000 โจทก์ตั้งบริษัทประกอบกิจการเป็นการแข่งขันกับนายจ้างโดยรู้ว่าทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายเป็นความผิดร้ายแรงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(2) นั้น โจทก์ได้ตั้งบริษัทและเข้าประมูลงานที่บริษัทอาซาฮีอิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด จริง โดยไม่รู้ว่านายจ้างเข้าประมูลด้วย ต่อมาภายหลังโจทก์ได้ติดตามผลการประมูลจึงทราบว่านายจ้างเข้าประมูลด้วย โจทก์จึงได้ถอนตัวออกไปโดยไม่ได้ติดตามผลการประมูลเพื่อให้โจทก์ชนะการประมูลโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะกระทำการเป็นปฏิปักษ์และทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ส่วนเรื่องที่นายจ้างอ้างว่าโจทก์นำเอาเทคนิคทางวิชาการของนายจ้างซึ่งอ้างว่าเป็นความลับไปใช้กับบริษัทของโจทก์แล้วจะสัมฤทธิ์ผลตามมาตรฐานไอเอสโอ 9000 นั้น เทคนิคดังกล่าวเป็นมาตรฐานสากล ผู้ใดที่ตั้งบริษัทที่ปรึกษาเช่นเดียวกับโจทก์หรือนายจ้างย่อมต้องทราบเทคนิคในการจัดทำระบบมาตรฐานสากลไอเอสโอ 9000 อยู่แล้ว โจทก์ทราบเทคนิควิชาการดังกล่าวโดยศึกษาจากหนังสือตำราต่าง ๆ ด้วยตนเอง ก่อนเข้ามาทำงานกับนายจ้างโจทก์เคยทำงานกับบริษัทอื่นซึ่งเป็นงานในลักษณะเดียวกันมาก่อนและบริษัทนั้นก็ได้สัมฤทธิ์ผลได้รับใบรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 9000 เช่นเดียวกัน จึงไม่ได้ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และโจทก์ไม่ได้ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายในเรื่องการประมูลเพราะเมื่อโจทก์ทราบว่านายจ้างเข้าประมูลงานด้วย โจทก์ก็ถอนตัวออกไปโดยมิได้ติดตามเพื่อให้ชนะการประมูล ซึ่งผลการประมูลปรากฏว่าบริษัทอื่นชนะการประมูล นอกจากนี้โจทก์ไม่ได้กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อนายจ้าง เพราะนายจ้างไม่มีข้อบังคับหรือระเบียบหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ห้ามลูกจ้างประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับนายจ้าง นายจ้างไม่สอบสวนโจทก์ก่อนตามระเบียบของนายจ้าง หากสอบสวนให้โอกาสโจทก์ชี้แจงแสดงเหตุผลโจทก์ก็สามารถถอนตัวจากบริษัทแล้วทำงานกับนายจ้างต่อไปที่ตั้งบริษัทเพราะมีเพื่อนที่ตกงานชักชวนโดยไม่มีเจตนาที่จะแข่งขันกับนายจ้าง การที่นายจ้างเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ อีกประการหนึ่ง โจทก์เห็นว่ามีพนักงานบริษัทมาชักชวนโจทก์ให้ร่วมหุ้นตั้งบริษัทประกอบกิจการเช่นเดียวกับนายจ้างผู้จัดการบริษัทนายจ้างก็ทราบ โจทก์จึงเข้าใจว่าการตั้งบริษัทประกอบกิจการเช่นเดียวกับนายจ้าง ไม่น่าจะมีความผิด เพราะไม่มีระเบียบข้อบังคับของบริษัทห้ามไว้ โจทก์จึงเห็นว่าการที่โจทก์ตั้งบริษัทประกอบกิจการเช่นเดียวกับนายจ้างไม่ได้ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายและเป็นปฏิปักษ์ต่อนายจ้างโจทก์ได้รับทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ 7/2543 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2543ขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543
จำเลยให้การว่า โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส เป็นตำแหน่งงานสำคัญถือเป็นหัวใจหลักของบริษัทนายจ้าง โจทก์จะทราบถึงเทคนิคสำคัญซึ่งเป็นความลับของบริษัทนายจ้างจากตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์เอง ซึ่งโจทก์ได้นำเอาไปใช้กับลูกค้าขณะเป็นพนักงานบริษัทอยู่เสมอ ต่อมาภายหลังนายจ้างทราบว่าโจทก์ได้ประกอบกิจการในลักษณะเช่นเดียวกับนายจ้างโดยได้จดทะเบียนนิติบุคคลในนามบริษัทคิวซีดี แมเนจเม้นท์ จำกัดประกอบกิจการให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านระบบคุณภาพตามหลักฐานหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท กระทำกิจการเช่นเดียวกับนายจ้างย่อมต้องการลูกค้ากลุ่มเดียวกันและมีการนำเอาความรู้ข้อมูลความลับซึ่งเป็นเทคนิคสำคัญของบริษัทนายจ้างไปใช้เพื่อประโยชน์แก่บริษัทส่วนตัวโดยสะดวก ซึ่งการดำเนินธุรกิจของนายจ้างต้องอาศัยความสามารถและความซื่อสัตย์ของพนักงานเป็นสำคัญ และนายจ้างยังตรวจพบอีกว่าบริษัทคิวซีดี แมเนจเม้นท์ จำกัด ของโจทก์ได้เข้าประมูลงานโครงการให้คำปรึกษาระบบบริหารคุณภาพไอเอสโอ 9000 ของบริษัทอาซาฮีอิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อแข่งขันกับนายจ้าง ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นลูกค้านายจ้างในขณะที่โจทก์เป็นพนักงานของนายจ้าง พฤติการณ์ของโจทก์กระทำเพื่อต้องการชนะการประมูลให้ได้มาซึ่งงานโครงการดังกล่าว กระทำโดยเล็งเห็นผลและรู้ว่าจะทำให้นายจ้างเสียหายไม่ได้รับการประมูลงานการกระทำของโจทก์เป็นการทำธุรกิจแข่งขันกับนายจ้างเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนายจ้างโดยตรง ถือว่าจงใจทำให้ นายจ้างได้รับความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(2) นายจ้างจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 เฉพาะส่วนที่สั่งว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 ในส่วนที่สั่งว่าผู้ร้อง (โจทก์) ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างบริษัทแอลวีเอ็ม (เอเซีย)จำกัด ตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาอาวุโส ต่อมาโจทก์ได้จดทะเบียนตั้งบริษัทคิวซีดีแมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้าง อันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้าง ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2543 นายจ้างมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2543 อ้างว่าโจทก์จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทคิวซีดีแมเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้าง อันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้าง ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2543 นายจ้างมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2543 อ้างว่าโจทก์จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทคิวซีดีแมเนจเม้นท์ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2541 เพื่อประกอบธุรกิจให้บริการเป็นที่ปรึกษา ให้คำปรึกษาระบบคุณภาพเป็นการกระทำกิจการเช่นเดียวกับนายจ้าง ถือเป็นปฏิปักษ์และจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานประจำสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ดินแดงเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ (ที่ถูกโจทก์ขอค่าจ้างค้างจ่ายด้วย) จำเลยสอบสวนแล้วมีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 7/2543 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2543 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวจากข้อเท็จจริงที่ฟังยุติแล้วดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทแอลวีเอ็ม (เอเซีย) จำกัด นายจ้าง มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของนายจ้าง ทำการตั้งบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับนายจ้างและมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้างซึ่งบริษัทดังกล่าวย่อมจะต้องดำเนินกิจการให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันกับลูกค้าของนายจ้าง ลูกค้าอาจจะเลือกให้บริการให้คำปรึกษาของบริษัทโจทก์ที่ก่อตั้งขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมจะต้องกระทบถึงรายได้ของนายจ้าง และทำให้นายจ้างเสียหาย แม้จะไม่ปรากฏว่าบริษัทที่โจทก์ก่อตั้งได้แย่งลูกค้าของนายจ้างหรือมีลูกค้าไปใช้บริการของบริษัทที่โจทก์ตั้งแล้วก็ตาม ก็ต้องถือว่าการที่โจทก์ตั้งบริษัทในลักษณะดังกล่าวเป็นการที่โจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้าง โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(2) และมาตรา 67แก่โจทก์แม้นายพิสิษฐ์ เทอดเกียรติ ผู้ลงนามในหนังสือเลิกจ้างในฐานะผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนายจ้างและนางสาวจรินทร์ ทองรัตรักษา ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายและบริการธุรกิจของบริษัทนายจ้าง จะได้ร่วมกันตั้งบริษัทอื่นซึ่งมีกิจการอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับกิจการของนายจ้างเช่นเดียวกับโจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่นายจ้างจะไปว่ากล่าวเอาโทษแก่บุคคลทั้งสองเอง หามีผลทำให้การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายที่กล่าวมา กรณีไม่มีเหตุจะเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวข้างต้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด