คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2380/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 มีภูมิลำเนาที่แน่นอน การส่งหมายแจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาจึงต้องแจ้งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 4 การที่ศาลชั้นต้นให้ปิดประกาศแจ้งวันนัดที่หน้าศาลจึงเป็นการแจ้งวันนัดที่ไม่ชอบ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 4 ไม่ทราบวันนัด ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งที่ให้ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ทราบคำพิพากษานั้นเสียได้ โดยให้ถือว่าจำเลยที่ 4 ยังไม่ได้ฟังคำพิพากษาและให้ถือว่าได้ฟังคำพิพากษาในวันนัดพร้อมเพื่อพิจารณา คำร้องขอให้แจ้งวันนัดและพิพากษาใหม่ของจำเลยที่ 4 ได้.
ผู้ตายโดยสารมาในรถยนต์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลเช่นเดียวกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ความเสียหายมิได้เกิดจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลของจำเลยที่ 3 แต่ฝ่ายเดียว จึงนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 437 อันว่าด้วยหน้าที่นำสืบมาใช้บังคับไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะนายจ้างของผู้ขับขี่รถยนต์สองคันที่ชนกันโดยละเมิดร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลละเมิดซึ่งได้กระทำไปในทางการที่จ้างต่อโจทก์ และขอให้จำเลยที่ 4ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ทั้งสองคันร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย โดยขอให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชำระเงิน 858,685 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน 800,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ และไม่ได้เป็นนายจ้างของผู้ขับขี่รถดังกล่าว รถยนต์ชนกันไม่ใช่ความประมาทของผู้ขับขี่รถดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ความประมาทเลินเล่อมิได้เกิดจากความผิดของคนขับรถยนต์ฝ่ายตน แต่เป็นความประมาทของอีกฝ่ายหนึ่ง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของผู้ขับขี่รถคันที่เกิดเหตุไม่นำตัวผู้ขับขี่มาให้สอบปากคำและตรวจใบอนุญาตขับขี่รถยนต์อันเป็นการผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 4จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน310,000 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันที่ 15 ตุลาคม 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่สำหรับจำเลยที่ 4 นั้นให้ร่วมรับผิดดังกล่าวเพียงจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 ต่างอุทธรณ์ และโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งที่ให้ถือว่าจำเลยที่ 4 ทราบคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่13 สิงหาคม 2527 และขอให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 4 ลงวันที่ 4กรกฎาคม 2527
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ และพิพากษาแก้เป็นว่าสำหรับจำเลยที่ 4 นั้น ให้ร่วมรับผิดเพียงจำนวนไม่เกิน100,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 ต่างฎีกา โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งรวมมาในฉบับเดียวกัน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า คำสั่งศาลชั้นต้น ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2527 ที่ให้เพิกถอนคำสั่งซึ่งได้สั่งไว้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2527 ว่าจำเลยที่ 4 ทราบคำพิพากษาแล้ว เป็นว่าจำเลยที่ 4 ยังไม่ได้ฟังคำพิพากษาโดยให้ถือว่าได้ฟังในวันที่ 13 สิงหาคม 2527 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามทางพิจารณาของศาลชั้นต้นปรากฏว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2527 อันเป็นวันนัดฟังประเด็นกลับฝ่ายโจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยไม่มา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้ถือว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะนำพยานเข้าสืบอีกต่อไป คดีเสร็จการพิจารณา ให้นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 27 เมษายน 2527เวลา 13.30 นาฬิกา ประกาศหน้าศาลให้จำเลยทราบครั้นถึงวันนัด ผู้รับมอบจากฝ่ายโจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยไม่มาศาลชั้นต้นสั่งว่าเนื่องจากศาลยังทำคำพิพากษาไม่เสร็จ ให้เลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 15 พฤษภาคม 2527 เวลา 13.30 นาฬิกาประกาศนัดใหม่ให้จำเลยทราบหน้าศาล ถึงวันนัด ผู้รับมอบจากฝ่ายโจทก์มาศาล ฝ่ายจำเลยไม่มา ศาลชั้นต้นจึงอ่านให้โจทก์ฟังและให้ถือว่าจำเลยทั้งหมดได้ฟังคำพิพากษาด้วยแล้ว ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม2527 จำเลยที่ 4 จึงยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 4 มีความประสงค์จะอุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 4 ไม่ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาเพราะศาลชั้นต้นมิได้ส่งหมายแจ้งวันนัดไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2527 ว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ซึ่งพ้นกำหนดเวลาใช้สิทธิอุทธรณ์แล้ว กระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้แจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 4 ทราบและพิพากษาใหม่ ศาลชั้นต้นนัดพร้อมวันที่ 13 สิงหาคม 2527 และเมื่อได้ฟังคำคัดค้านของโจทก์แล้วมีคำสั่งในวันนัดว่า ศาลไม่ได้ออกหมายแจ้งวันนัดไปยังจำเลยที่ 4 ทำให้จำเลยที่ 4 อ้างเหตุไม่ทราบคำพิพากษาได้ เห็นควรให้โอกาสแก่จำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ว่าจำเลยที่ 4 ทราบคำพิพากษาแล้ว โดยให้ถือว่าจำเลยที่ 4 ยังไม่ได้ฟังคำพิพากษา และให้ถือว่าได้ฟังคำพิพากษาในวันนี้ (วันที่ 13 สิงหาคม 2527)พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 4มีภูมิลำเนาที่แน่นอน การส่งหมายแจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาจึงต้องแจ้งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 4 การที่ศาลชั้นต้นให้ปิดประกาศแจ้งวันนัดที่หน้าศาล จึงเป็นการแจ้งวันนัดที่ไม่ชอบ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 4 ไม่ทราบวันนัด ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะเพิกถอนคำสั่งที่ให้ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ทราบคำพิพากษาในวันนัดนั้นเสียได้ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4ทราบว่าศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2527 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ให้ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 สิงหาคม 2527 จึงเป็นการให้ถือเอาสิ่งที่ผิดข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นให้ถือว่าจำเลยที่ 4 ได้ฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 สิงหาคม 2527 เป็นเพียงวิธีการกำหนดให้ทราบว่าจำเลยที่ 4 อาจยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 13 กันยายน 2527 เท่านั้นเพราะหากจำเลยที่ 4 มีความประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษานั้น ฎีกาโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นายประสิทธิ์ บรรณา ลูกจ้างจำเลยที่ 3มีส่วนประมาทด้วยจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น พยานโจทก์มีแต่คำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ที่ว่า ทราบจากพนักงานสอบสวนว่าคนขับทั้งสองฝ่ายประมาท แต่พันตำรวจตรีวิโรจน์ หวลภิรมย์ พนักงานสอบสวน พยานโจทก์เองกลับเบิกความว่า จุดชนอยู่ในเส้นทางเดินรถของรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ซึ่งเป็นรถของจำเลยที่ 3 และได้สรุปสำนวนลงความเห็นว่าเป็นความผิดของนายเกษม เรือนเงิน ผู้ขับรถยนต์บรรทุก10 ล้อ ทั้งตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ป.จ.4ที่พันตำรวจตรีวิโรจน์บันทึกลงไว้ภายหลังกลับจากตรวจที่เกิดเหตุก็ให้ความเห็นว่า การชนกันครั้งนี้เป็นความผิดของผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3092 ซึ่งนายเกษม เรือนเงิน ขับมา จึงฟังไม่ได้ว่านายประสิทธิ์คนขับรถของจำเลยที่ 3 มีส่วนประมาทด้วยส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาด้วยว่าแม้จะฟังว่านายประสิทธิ์จะมิได้ประมาท แต่นายประสิทธิ์ก็เป็นผู้ควบคุมดูแลยานพาหนะ อันเกิดด้วยกำลังเครื่องจักรกล นายประสิทธิ์ต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 และคดีนี้มิได้พิสูจน์ให้เห็นได้เช่นนั้น จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดด้วยข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าผู้ตายโดยสารมาในรถยนต์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลเช่นเดียวกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2ความเสียหายมิได้เกิดจากยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลของจำเลยที่ 3 แต่ฝ่ายเดียว จึงนำบทบัญญัติมาตรา 437 มาใช้ไม่ได้ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า นายเกษม เรือนเงิน คนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ กรณีไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงมิต้องรับผิดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4 มิได้นำสืบยืนยันว่านายเกษมไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ เพียงแต่อ้างว่าหลังเกิดเหตุแล้วนายเกษมหลบหนีไปจึงไม่อาจตรวจสอบว่านายเกษมมีใบอนุญาตขับขี่หรือไม่ ดังนั้นข้ออ้างที่ว่านายเกษมไม่มีใบอนุญาตใบขับขี่รถยนต์จึงเป็นเพียงการคาดหมายของจำเลยที่ 4 เองเท่านั้น และข้ออ้างที่ว่านี้เป็นข้ออ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย เมื่อจำเลยที่ 4มิได้นำสืบให้ฟังได้ว่ากรณีเป็นไปตามข้อยกเว้นแล้ว จำเลยที่ 4 ก็ยังคงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share