แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ได้มอบให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ยเมื่อโจทก์ชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลยไปแล้ว การที่จำเลยยังคงครอบครองที่ดินพิพาทต่อไปย่อมถือได้ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองต่อโจทก์ ดังนี้แม้จำเลยจะครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาช้า นานเพียงใด ก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยคืนที่ดินพิพาทได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบิดาจำเลยที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2512โจทก์กู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 20,000 บาท โดยมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอีจังหวัดมุกดาหารให้จำเลยที่ 1 ทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อปี พ.ศ.2523-2524 โจทก์ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ 1ขอทำกินในที่ดินของโจทก์ดังกล่าวต่อไป โจทก์ยินยอมโดยตกลงกันว่าเมื่อโจทก์จะเข้าทำกินเองหรือประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินคืนเมื่อใด จำเลยที่ 1 จะส่งมอบคืนให้ทันที ต่อมาต้นปี พ.ศ. 2528 โจทก์ทราบว่าเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดสำหรับที่ดินดังกบ่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ตามโฉนดเลขที่ 1457 และ 1453 โดยจำเลยทั้งสองสมคบกันให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์อันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโดยจำเลยที่ 1ยกให้เมื่อสองปีมาแล้ว ก่อนหน้านั้นจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองมาประมาณ25 ปี ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3 ก.) ให้เป็นชื่อของจำเลยที่ 2 ตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 1687ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ต่อมาปี พ.ศ. 2527จำเลยทั้งสองโดยเจตนาทุจริตสมคบกันขอออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 โดยยื่นคำร้องขออันเป็นเท็จเช่นเดียวกับการขอออกน.ส. 3 ก. เจ้าพนักงานที่ดินหลงเขื่อจึงออกโฉนดที่ดินให้เป็นชื่อของจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.)เลขที่ 1687 ตำบบน้ำเที่ยง (เดิมตำบลบ้านซ่ง) อำเภอคำชะอีจังหวัดมุกดาหาร (เดิมจังหวัดนครพนม) และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่1457 และ 1458 ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหารให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินคือนแก่โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองเข้ายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้และตกลงอะไรกันตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาโดยสุจริต โดยซื้อจากผู้มีชื่อมานานประมาณ 20 ปีแล้ว เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2518 จำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการยื่นเรื่องราวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอออก น.ส.3 ก. ทางราชการได้ประกาศให้บุคคลทั่วไปหรือผู้มีส่วนได้เสียคัดค้านตามระเบียบแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2527 จำเลยที่ 2 จึงได้ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทตามประกาศของทางราชการโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านอีก คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยขน์(น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1687 ตำบลนำ้เที่ยง (เดิมตำบลบ้านซ่ง)อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร (เดิมจังหวัดนครพนม) ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 1457 และ 1458 ตำบลน้ำเที่ยง อำเภอคำชะอีจังหวัดมุกดาหาร ใหัจำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองเข้ายุ่งเกี่ยวต่อไป
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่จำเลยทั้งสองนำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และขอออกโฉนดที่ดิน ทางราชการได้ออก น.ส. 3 ก. และโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จะขอให้เพิกถอนน.ส. 3 ก. และโฉนดที่ดินตามฟ้องได้หรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุผลน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของจำเลย และฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลบที่ 1 รับว่าเคยรู้จักกับโจทก์มาก่อนและเคยเป็นครูอยู่กับโจทก์ประมาณ 2 ปี แล้วจึงแยกย้ายกันไปและว่าในการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2503 นั้น โจทก์เป็นผู้ให้จำเลยที่1 เข้าครอบครองแทน ต่อมาได้ความจากโจทก์ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2512โจทก์ได้กู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 20,000 บาท เพื่อให้น้อยชายโจทก์ใช้จ่ายในการหาเสียงรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ทำกินต่างดอกเบี้ย ภายหลังกรมชลประทานขุดคลองส่งน้ำผ่านที่ดินของโจทก์ ได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดิน โจทก์ว่าเป็นเงินที่โจทก์ควรจะได้รับแต่ให้จำเลยที่ 1 รับแทนเป็นการใช้หนี้เงินกู้และยังคงให้จำเลยทั้งสองครอบครองต่อไป จำเลยทั้งสองก็นำสืบว่าได้รับเงินจากกรมชลประทานเห็นได้ว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และได้มอบให้จำเลยทำกินต่างดอกเบี้ย เมื่อกรมชลประทานจ่ายเงินค่าทดแทนให้เจ้าของที่ดินซึ่งเป็นเงินที่โจทก์ควรจะได้รับ โจทก์ให้จำเลยรับเงินไปเป็นการชำระหนี้เงินกู้จริง การที่จำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทต่อไปย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ยึดถือที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ต่อไป และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการครอบครองต่อโจทก์ ดังนั้นจึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองยังคงยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ตลอดมา แม้จำเลยทั้งสองจะทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาช้านานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนที่ดินพิพาทและขอให้เพิกถอน น.ส. 3 ก.กับโฉนดที่ดินตามฟ้อง…”
พิพาทยืน.