คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานสอบสวนมิใช่หน่วยงาน แต่เป็นบุคคลธรรมดามีฐานะเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนคดีอาญา และมีอำนาจสั่งคำร้องขอให้ประกันตัวผู้ต้องหาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อจำเลยขอประกันตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนและทำสัญญาประกันแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับตามสัญญาประกันได้ตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเอง มิใช่เป็นการกระทำแทนหรือกระทำในนามกรมตำรวจ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ มาประกันตัวผู้ต้องหา และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันทำสัญญาประกันไว้แก่โจทก์ว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ตามนัด ถ้าผิดสัญญายอมชดใช้เงินจำนวน๑๖๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามามอบให้โจทก์ได้ ขอให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกับชำระเงินจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่นิติบุคคล การที่โจทก์มีอำนาจให้ทำสัญญาประกันตัวเป็นเพียงระเบียบระหว่างโจทก์กับกรมตำรวจเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดจำเลยทั้งสองไม่ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเป็นเพียงหน่วยงานย่อยของกรมตำรวจ มิได้เป็นนิติบุคคลมีอำนาจให้ประกันแทนหรือในนามกรมตำรวจเท่านั้น จึงไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่าพนักงานสอบสวนมิใช่หน่วยงานแต่เป็นบุคคลธรรมดามีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนคดีอาญาโดยในส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวหรือขอประกันตัวผู้ต้องหานั้น เมื่อมีการยื่นคำร้องมาโดยถูกต้องแล้วพนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสั่งได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน ก็ชอบที่จะให้ผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาประกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๐๖(๑), มาตรา ๑๐๗ และมาตรา ๑๑๒ ดังนี้การที่จำเลยที่ ๑มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ขอประกันตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน และโจทก์ก็ได้อนุญาตให้ประกันและให้จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาประกันแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับตามสัญญาประกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยถือได้ว่าเป็นการทำสัญญาประกันและฟ้องร้องตามอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเองมิใช่เป็นการกระทำแทนหรือกระทำในนามกรมตำรวจ
พิพากษายืน.

Share