คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดโทษทางวินัยไว้ 2 สถานคือสถานเบาและสถานหนัก ข้อ 18 ก. เป็นโทษสถานเบาซึ่งกำหนดข้อห้ามในเรื่องไม่มีความสำคัญ ข้อ 18 ก.23 กำหนดว่าละเลยไม่เอาใจใส่ต่อประกาศและคำสั่งต่าง ๆ ของโรงแรม จึงหมายความว่าเป็นเรื่องที่จำเลยออกประกาศหรือคำสั่งใด ๆ ที่กำหนดถึงการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ไม่มีความสำคัญนัก จำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่พนักงานขายจัดเลี้ยง การที่โจทก์ขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจำเลยได้ ซึ่งมิใช่เป็นความผิดเล็กน้อยอันจะพึงได้รับโทษสถานเบา เมื่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยมิได้กำหนดความผิดในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ กรณีต้องปรับด้วยบทกฎหมายที่มีอยู่คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เมื่อโจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยผู้เป็นนายจ้างจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกล่าวล่วงหน้า
คำว่าค่าฤชาธรรมเนียมตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน หมายความรวมถึงค่าทนายความด้วย คู่ความจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการแผนกบุคคล ต่อมาจำเลยลดตำแหน่งของโจทก์ให้ไปทำหน้าที่พนักงานขายจัดเลี้ยงแผนกอาหารและเครื่องดื่มโดยไม่ทราบเหตุผล และต่อมาได้ปลดโจทก์ออกจากงาน เป็นการกลั่นแกล้งโดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานกับใช้ค่าทนายความแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในแผนกบุคคลแทนจำเลยที่ ๒ มิได้เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคล โจทก์ไม่มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องผิดพลาดและละเลยต่อหน้าที่ ใช้อำนาจส่อไปในทางทุจริต รับสมัครพรรคพวกเข้าทำงานโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ จัดหาพนักงานนั่งดื่มและต้อนรับได้ไม่ครบ ๑๐ คน แต่รับเงินค่าจ้างไปเต็มจำนวนและไม่คืนให้จำเลยที่ ๒ สั่งทำตู้แช่และตู้น้ำกลั่นโดยมิได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ ๒ และต่อมาปรากฏว่าใช้การไม่ได้จำเลยจึงย้ายโจทก์ไปเป็นผู้บริหารการขายโดยมิได้กลั่นแกล้งบีบบังคับหรือลดตำแหน่งของโจทก์ กลับทำให้โจทก์ได้รับค่าพาหนะและค่ารับรองเพิ่มขึ้นแต่โจทก์ไม่ยอมย้ายและไม่ไปรายงานตัวในหน้าที่ใหม่และได้โต้แย้งคัดค้านด่าหมิ่นประมาทท้าทายจำเลยที่ ๒ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์และจ่ายค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์แล้ว ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์ทำงานในปี ๒๕๒๘ ได้เพียง ๒ เดือนจึงมีสิทธิได้รับเพียง ๒๖๘.๖๗ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์บกพร่องหลายประการมีเหตุเลิกจ้างได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๘๒.๑๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้ออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์ คำขออื่นให้ยกสำหรับค่าทนายความการดำเนินคดีในศาลแรงงานได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าฤชาธรรมเนียม จึงให้ยกเช่นเดียวกัน
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับเหตุเลิกจ้างและค่าฤชาธรรมเนียมดังนี้
ตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ ๑ ข้อ ๑๘ ได้กำหนดโทษทางวินัยไว้ ๒ สถาน คือสถานเบาและสถานหนัก ตามข้อ ๑๘ ก.เป็นเรื่องที่กำหนดถึงการกระทำที่จะถือว่าผิดวินัยและมีโทษสถานเบารวม ๓๖ ข้อ เหตุที่จำเลยที่ ๒ ได้ปลดโจทก์นั้นก็คือ ไม่ปฏิบัติและขัดขืนคำสั่งให้สับเปลี่ยนหน้าที่ ปัญหาว่าโจทก์ได้กระทำผิดวินัยตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ ๑ ข้อ ๑๘ ก.๒๓ หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าวินัยและโทษทางวินัยตามข้อ ๑๘ ก. นี้เป็นโทษทางวินัยสถานเบาซึ่งกำหนดข้อห้ามไว้ในเรื่องที่ไม่มีความสำคัญนัก เช่นไม่มีมารยาทในการรับรองแขกใช้กิริยาวาจาพยาบโลน หลับขณะอยู่ในหน้าที่ ผิวปากครวญเพลง เคี้ยวหมากฝรั่งเป็นต้น สำหรับข้อ ๑๘ ก.๒๓ กำหนดไว้ว่าละเลยไม่เอาใจใส่ต่อประกาศและคำสั่งต่าง ๆ ของโรงแรม ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ ออกประกาศหรือคำสั่งใด ๆ ที่กำหนดถึงการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ไม่มีความสำคัญนัก จำเลยที่ ๑ จึงวางบทลงโทษทางวินัยไว้สถานเบาเช่นเดียวกับข้อกำหนดข้ออื่น ๆ สำหรับการขัดคำสั่งที่ให้ย้ายโจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่พนักงานขายจัดเลี้ยงและโจทก์ขัดขืนคำสั่งโดยไม่ยอมปฏิบัตินั้น ตามกรณีอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจำเลยที่ ๑ ได้ซึ่งมิใช่เป็นความผิดเล็กน้อยอันจะพึงได้รับโทษสถานเบา เมื่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ ๑ มิได้กำหนดความผิดในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ กรณีก็ต้องปรับด้วยบทกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๑ ผู้เป็นนายจ้างแล้ว จำเลยที่๑ จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ คำสั่งปลดโจทก์ของจำเลยที่๑ จึงชอบแล้ว
คำว่าค่าฤชาธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๗ หมายความถึงค่าธรรมเนียมศาลรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่ารังวัดทำแผนที่ ค่าป่วยการพยานและรวมถึงค่าทนายความด้วย ค่าทนายความจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเพิ่มขึ้นอีกเป็นเงิน ๓๘๘ บาท ๙๐ สตางค์ ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share