คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2375/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกับ ล. อยู่กินด้วยกันเมื่อปี 2507 แล้วจึงได้จดทะเบียนการสมรสเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2519 ล. ซื้อที่พิพาทเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2518 แล้วจึงออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2522 โดยมีชื่อ ล. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ดังนี้ ที่พิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนที่จำเลยกับล. จดทะเบียนการสมรสกัน หาใช่เป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับ ล. ได้มาระหว่างสมรสอันจะทำให้เป็นสินสมรสตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1466 เดิม บัญญัติไว้ไม่.
ที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับ ล. ทำมาหาได้ร่วมกันก่อนจดทะเบียนการสมรสกัน จำเลยกับ ส. จึงเป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกันคนละส่วน เมื่อได้จดทะเบียนการสมรสที่พิพาทย่อมเป็นสินเดิมของแต่ละฝ่าย อันเป็นสินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1462,1463(1) เดิม ซึ่งตาม พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 7 ให้ถือว่าสินเดิมของแต่ละฝ่ายดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายนั้นตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่จำเลยกับ ล. ไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรสเป็นอย่างอื่น ล. ซึ่งเป็นสามีจึงเป็นผู้จัดการที่พิพาทอันเป็นสินบริคณห์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1468 เดิม และตาม พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 7 ฉะนั้นการที่ ล. จดทะเบียนขายฝากที่พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2524 ในขณะที่จำเลยกับ ล. ยังเป็นสามีภรรยากันอยู่ จึงถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้ ล. ขายฝากที่พิพาทอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยกึ่งหนึ่งด้วย เมื่อผู้คัดค้านยอมรับว่าจำเลยขายฝากที่พิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการโอนที่พิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยได้ตามพ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115.
การเพิกถอนการโอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115เป็นไปโดยผลของคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนก็ยังถือว่าเป็นการโอนโดยชอบอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่าได้มีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้รับโอนต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2524 ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2524 และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2526 ขณะยื่นคำร้องจำเลยยังไม่พ้นจากล้มละลาย ทางสอบสวนของผู้ร้องได้ความว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4504 ตำบลแม่สอด และที่ดินโฉนดเลขที่ 11084 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตากพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ร่วมกับนายล้วน ล่อกา สามีจำเลย เมื่อวันที่22 มิถุนายน 2524 ซึ่งเป็นเวลาภายใน 3 เดือน ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยและนายล้วนได้ขายฝากที่ดินทั้ง 2 โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท มีกำหนด2 ปี ให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 9 เพื่อเป็นการตีใช้หนี้ตามเช็คที่จำเลยเป็นลูกหนี้ผู้คัดค้านอยู่ จึงเป็นการกระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เพราะจำเลยยังเป็นหนี้เจ้าหนี้อื่นอีก 36 ราย มียอดหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นเงินถึง 13,557,720 บาท แต่ผู้ร้องสามารถรวบรวมทรัพย์สินได้เพียง 25,916.75 บาท ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 4504 ตำบลแม่สอด และที่ดินโฉนดเลขที่ 11084 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะส่วนของจำเลยระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านตามมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยดังกล่าวกลับคืนเป็นของจำเลยหากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ก็ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงิน 500,000 บาท แก่ผู้ร้องพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การที่จำเลยขายฝากที่ดินทั้งสองโฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านมิใช่เป็นการให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น อย่างไรก็ตามผู้ร้องก็ขอให้เพิกถอนที่ดินโฉนดเลขที่ 4504 ซึ่งขายฝากในราคา 300,000 บาทอันเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยได้เท่านั้น ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่11084 ซึ่งขายฝากในราคา 700,000 บาท เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนายล้วยที่นำมาขายฝากเพื่อชำระหนี้แทนจำเลย จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่อย่างใด ขอให้ยกคำร้อง
ก่อนสืบพยาน ผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงนำสืบข้อเท็จจริงกันเพียงประเด็นเดียวว่าในขณะทำการขายฝาก ที่ดินโฉนดเลขที่ 11084 เป็นกรรมสิทธิ์ของนายล้วนอันเป็นสินส่วนตัว หรือเป็นสินสมรสระหว่างนายล้วนกับจำเลย ส่วนข้อเท็จจริงอื่นตามคำร้องนอกจากนี้ผู้คัดค้านไม่โต้เถียงโดยยินยอมรับหมดตามคำร้อง หากปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่11084 เป็นสินส่วนตัวของนายล้วนขณะโอน ฝ่ายผู้ร้องแพ้คดีเฉพาะส่วนนี้ ถ้าได้ความว่าเป็นสินสมรส ผู้คัดค้านแพ้คดีทั้งหมด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 11084 เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายล้วน ขณะจดทะเบียนขายฝากจำเลยกับนายล้วนยังมิได้หย่าขาดจากกันจึงยังเป็นสินสมรสของบุคคลทั้งสองอยู่แต่นายล้วนผู้เดียวเป็นคู่สัญญากับผู้คัดค้านจำเลยไม่ได้มีนิติสัมพันธ์ตามสัญญาดังกล่าวกับผู้คัดค้าน ผู้ร้องมิได้ร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างนายล้วนกับผู้คัดค้าน และให้นายล้วนเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย จึงไม่อาจสั่งเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างนายล้วนกับผู้คัดค้านได้ มีคำสั่งเพิกถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่4504 ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านเฉพาะส่วนของจำเลย ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนได้ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่ผู้ร้อง กับให้ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะส่วนนี้แก่ผู้ร้องสำหรับค่าทนายความนั้นผู้ร้องว่าความเอง จึงไม่กำหนดให้นอกจากนี้ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 11084 เป็นสินส่วนตัวของนายล้วนผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยกับนายล้วนล่อกา ได้อยู่กินกันมาก่อนเป็นเวลา 12 ปี มีบุตรด้วยกัน 3 คน แล้วจึงได้จดทะเบียนการสมรสเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2519 ดังที่ปรากฎตามเอกสารหมาย ร.5 ที่ดินโฉนดเลขที่ 11084 ตำบลท่าสายลวดอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทกันนี้ เดิมเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 19 (2 ก)หน้า 34 สารบบเลขที่ 168/40 ซึ่งปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนว่านายล้วนได้ซื้อมาจากนายรส ดวงเอื้อย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2518แล้วจึงได้ออกโฉนดที่ดินเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2522 โดยมีชื่อนายล้วนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาก่อนที่จำเลยกับนายล้วนจดทะเบียนการสมรสกัน จึงหาใช่เป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับนายล้วนได้มาระหว่างสมรสอันจะทำให้เป็นสินสมรส ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เดิมบัญญัติไว้ไม่ ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนายล้วนผู้คัดค้านจึงต้องแพ้คดีนั้น ฟังไม่ขึ้น
คดีคงมีปัญหาว่า ขณะทำการขายฝาก ที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของนายล้วนหรือไม่…พิเคราะห์แล้ว ได้ความว่าจำเลยกับนายล้วนอยู่กินกันมาก่อนเป็นเวลา 12 ปี แล้วจึงได้จดทะเบียนการสมรสกันเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2519 ฉะนั้น จำเลยกับนายล้วนจึงอยู่กินด้วยกันมาตั้งแต่ราวปี 2507 นายล้วนได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยว่า ก่อนที่จะอยู่กินกับจำเลย นายล้วนไม่มีทรัพย์สินใด ๆ เมื่ออยู่กินกับจำเลยได้อาศัยที่นาของบิดามารดาจำเลยทำกิน ต่อมามีเงินเหลือเก็บจากการขายข้าวประมาณ 50,000 บาท นำไปลงทุนค้าขายทับทิม ได้กำไรจึงนำไปซื้อที่ดินและทำการปลูกสร้างสิ่งต่าง ๆ ลงในที่ดินนั้น ซึ่งจำเลยก็ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนดังกล่าวว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่กินกับนายล้วน เมื่อผู้ร้องเรียกจำเลยและนายล้วนมาสอบสวนอีกครั้งหนึ่งเพื่อประกอบสำนวนเพิกถอนการโอน จำเลยและนายล้วนยังคงให้การเหมือนเดิมว่า ที่พิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันโดยใช้เงินที่ได้มาร่วมกันซื้อ ที่จำเลยและนายล้วนเบิกความเมื่อผู้ร้องอ้างมาเป็นพยานว่านายล้วนนำที่ดินของตนซึ่งได้มาตั้งแต่ก่อนอยู่กินกับจำเลยประมาณ 2 ปี ไปแลกที่พิพาท โดยเพิ่มเงินให้นายรสอีก 20,000 บาท น่าจะเป็นการเบิกความบ่ายเบี่ยงเพื่อช่วยเหลือผู้คัดค้าน ถึงแม้จะมีการนำที่ดินไปแลกที่พิพาทโดยเพิ่มเงินให้นายรสอีก 20,000 บาท ดังที่จำเลย นายล้วน กับนายรสพยานผู้คัดค้านเบิกความมาก็ตาม เชื่อได้ว่า ทั้งที่ดินที่นำไปแลกและเงินที่เพิ่มให้นายรสเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับนายล้วนทำมาหาได้ร่วมกันทั้งสิ้น ดังนั้นจำเลยกับนายล้วนจึงเป็นเจ้าของที่พิพาทร่วมกันคนละส่วน ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2518 เมื่อได้จดทะเบียนการสมรสวันที่ 29 มกราคม2519 ที่พิพาทย่อมเป็นสินเดิมของแต่ละฝ่าย อันเป็นสินบริคณห์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1462, 1463 (1) เดิม ซึ่งตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 7 ให้ถือว่าสินเดิมของแต่ละฝ่ายดังกล่าว เป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายนั้นตามบทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ที่พิพาทจึงหาได้เป็นสินส่วนตัวของนายล้วนแต่เพียงผู้เดียวไม่ ในขณะจดทะเบียนขายฝากที่พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2524 จำเลยกับนายล้วนยังเป็นสามีภรรยากันอยู่ เพราะได้จดทะเบียนการหย่าในภายหลังเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2524 จำเลยกับนายล้วนไม่ได้ทำสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นนายล้วนซึ่งเป็นสามีเป็นผู้จัดการที่พิพาทอันเป็นสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1468 เดิม และตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 7 ฉะนั้น การที่นายล้วนจดทะเบียนขายฝากที่พิพาทให้แก่ผู้คัดค้านจึงถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้นายล้วนขายฝากที่พิพาทอันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยกึ่งหนึ่งด้วย เมื่อผู้คัดค้านยอมรับว่าจำเลยขายฝากที่พิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่ผู้คัดค้านโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการโอนที่พิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 ส่วนในกรณีที่ผู้คัดค้านไม่สามารถโอนที่พิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ผู้ร้องก็ขอให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาเป็นเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่ผู้ร้องนั้น เห็นว่า การเพิกถอนการโอนที่พิพาทเฉพาะส่วนของจำเลย เป็นไปโดยผลของคำพิพากษาตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้เพิกถอนการโอนก็ยังถือว่าเป็นการโอนโดยชอบอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่าได้มีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องดอกเบี้ยตามที่ขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่11084 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านเสียด้วย หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านใช้ราคาเป็นเงิน 350,000 บาทกับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนผู้ร้องส่วนค่าทนายความนั้นผู้ร้องว่าความเอง จึงไม่กำหนดให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share