คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

(คำสั่งศาลฎีกาที่ 1131/2536 ประชุมใหญ่) คดีตามประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 6 ศาลแพ่งไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดด้วยตนเอง นอกจากทำความเห็นไปยัง ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย และประกาศดังกล่าวได้บัญญัติให้นำ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายและศาลฎีกาก็มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเช่นนั้นได้ ปัญหาที่ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 หรือไม่ซึ่งเกิดขึ้นในการพิจารณาคดีของศาล มิใช่ปัญหาเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรีขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยตามมาตรา 30 วรรคสองและมิใช่เป็นการกระทำหรือปฏิบัติตามที่บัญญัติในมาตรา 31แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534ทั้งมิใช่ปัญหาว่าบทบัญญัติของกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534มาตรา 5 และมาตรา 206 วรรคแรกเช่นเดียวกันอำนาจในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงตกอยู่แก่ ศาลตามหลักกฎหมายทั่วไป แม้ขณะที่ออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครองใช้บังคับแต่ระหว่าง ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับอยู่ได้มีประกาศ ใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534เมื่อประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 มีผลเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลให้มีอำนาจทำการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาล ทั้งออกและใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาย้อนหลังไปลงโทษบุคคล เป็นการขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 จึงขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534มาตรา 30 วรรคแรก ใช้บังคับมิได้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534มาตรา 32 เป็นการรับรองโดยทั่วไปว่า ประกาศหรือคำสั่งของ รสช.มีผลให้ใช้บังคับได้เช่นกฎหมายเท่านั้นมิได้บัญญัติรับรองไปถึงว่าให้ใช้บังคับได้แม้เนื้อหาตามประกาศหรือคำสั่งนั้นขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 และเมื่อประกาศ รสช.ฉบับที่ 26ข้อ 2 ข้อ 6 ใช้บังคับไม่ได้ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรมาตรา 30 แล้ว จึงมิใช่กฎหมายที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2534 จึงจะนำมาตรา 222 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 มาใช้ให้มีผลบังคับ ต่อไปมิได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดและควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ต่อมาได้ออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ขึ้น ทำการตรวจสอบทรัพย์สินของนักการเมืองต่อมา คตส. ได้พิจารณามีคำวินิจฉัยว่าทรัพย์สินของผู้ร้องทั้งที่อยู่ในนามของผู้ร้อง บุตร ภริยา และบุคคลอื่นได้มาโดยมิชอบ หรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติให้ตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้องเห็นว่าการดำเนินการและคำวินิจฉัยของ คตส. ขัดต่อกฎหมายหลักนิติธรรม และข้อเท็จจริง ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคตส. ในกรณีของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อ รสช.ได้ยึดและเข้าควบคุมอำนาจปกครองประเทศ ย่อมมีอำนาจสูงสุดในประเทศรัฐาธิปัตย์มีอำนาจออกกฎหมายและคำสั่งเพื่อใช้บังคับได้นอกจากนั้นธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534รับรองว่าประเทศ รสช. ฉบับที่ 26 และประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ออกก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2534 เป็นประกาศและคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายในการวินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ร้อง คตส. ได้วินิจฉัยตามหลักเกณฑ์ด้วยความชอบธรรม ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างสืบพยานผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ไม่มีผลใช้บังคับเพราะเป็นการออกกฎหมายย้อนหลังลงโทษผู้บริสุทธิ์และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ธรรมนูญการปกครองแห่งประเทศไทย และประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยทั้งเป็นการตั้งศาลพิเศษขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาใดข้อหาหนึ่งโดยเฉพาะ
ผู้คัดค้านยื่นคำแถลงคัดค้านว่า ประกาศ รสช.มิได้ขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534ทั้งมิใช่กฎหมายอาญาที่ลงโทษริบทรัพย์ของผู้ร้องการวินิจฉัยของคตส. มิได้เป็นการกระทำเช่นเดียวกับศาลหรือเป็นศาลพิเศษแต่อย่างใด
ศาลแพ่งทำความเห็นและส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อพิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้หรือไม่และศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยคำร้องนั้นโดยไม่ต้องส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า “เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่าบุคคลใดร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติตามข้อ 2 แล้วให้บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกตินั้นตกเป็นของแผ่นดิน
บุคคลที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวินิจฉัยว่าร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติมีสิทธิยื่นคำขอพิสูจน์ว่าตนได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยชอบโดยยื่นต่อศาลแพ่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน
เมื่อศาลแพ่งได้รับคำร้องตามวรรคสองแล้ว ให้ส่งสำเนาคำร้องให้พนักงานอัยการเพื่อทำคำคัดค้านภายในสามสิบวันและให้ศาลแพ่งดำเนินการพิจารณาต่อไปโดยไม่ชักช้าโดยให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ทำความเห็นและส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย และให้ศาลฎีกามีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้ร้องสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้ทรัพย์สินใดมาโดยชอบ ให้มีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น
(2) ถ้าผู้ร้องไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่ตนได้มาโดยชอบให้ยกคำร้องนั้นเสีย
ในการวินิจฉัยของศาลฎีกาตามวรรคสาม ให้ประธานศาลฎีกาดำเนินการให้มีการวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง” จึงเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นวิธีพิจารณาพิเศษ กำหนดให้ศาลแพ่งดำเนินการพิจารณาโดยศาลแพ่งไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดด้วยตนเองได้นอกจากทำความเห็นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยดังนี้ ผู้ร้องย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้เพราะตามความในข้อ 6 ดังกล่าวได้บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และอำนาจของศาลในการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายก็มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวได้เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 146/2530 ระหว่าง นายสมัย เจริญช่าง ผู้ร้อง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวก ผู้คัดค้าน
สำหรับปัญหาที่ว่าศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามคำร้องโดยไม่ต้องส่งให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้หรือไม่นั้นพิเคราะห์แล้ว ขณะที่ รสช. ออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือธรรมนูญการปกครองฉบับใดใช้บังคับ ต่อมาระหว่างที่ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 มีผลใช้บังคับอยู่นั้น ได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ดังนั้น ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพ.ศ. 2534 และจะขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 ไม่ได้ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 225/2506 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์นายถนิม โชติมณี กับพวก จำเลย ในปัญหาว่า องค์กรใดเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 นั้นเห็นว่า ตามหลักกฎหมายทั่วไป ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี จึงมีอำนาจหน้าที่พิจารณาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดจะใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่เพียงใดศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย เว้นแต่จะมีบทกฎหมายใดโดยเฉพาะบัญญัติให้อำนาจนี้ไปตกอยู่แก่องค์กรอื่น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2535 มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี ขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัยชี้ขาด” แต่ในกรณีนี้มีปัญหาเกี่ยวกับข้อที่ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 หรือไม่มิได้เกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือเกิดขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติวินิจฉัย จึงมิได้อยู่ในอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จะวินิจฉัยและตามมาตรา 31บัญญัติว่า “ในกรณีมีปัญหาว่า การกระทำหรือการปฏิบัติใดขัดหรือแย้งหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด” แสดงว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้นเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าการกระทำหรือการปฏิบัติใดขัดต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพ.ศ. 2534 หรือไม่ ซึ่งถ้อยคำที่ว่า “การกระทำหรือการปฏิบัติ”ย่อมไม่หมายความรวมถึงบทบัญญัติของกฎหมายด้วย ในการวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 หรือไม่ จึงมิได้อยู่ในอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้สิ้นสภาพไปแล้ว และแม้ในขณะที่ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหานี้ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 แล้ว ซึ่งมาตรา 206 วรรคแรกบัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งโดยศาลเห็นว่ามีเหตุผลอันสมควรว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวแล้วส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย”แต่มาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวแสดงว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะในปัญหาว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534หรือไม่ เท่านั้น อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรพ.ศ. 2534 หรือไม่ จึงตกอยู่แก่ศาลตามหลักกฎหมายทั่วไปดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องโดยไม่ต้องส่งไปให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 766/2505 ระหว่างหม่อมราชวงศ์พันธทิย์ บริพัตร โจทก์ การท่าเรือแห่งประเทศไทยกับพวก จำเลย คำพิพากษาฎีกาที่ 222/2506 ระหว่างนายสกล สามเสน โจทก์ นายชั่ว พุดทองศิริ กับพวก จำเลยและคำพิพากษาฎีกาที่ 225/2506 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ โจทก์ นายถนอม โชติมณี กับพวก จำเลย
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 2และข้อ 6 ขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 และมีลักษณะเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญาที่ใช้บังคับย้อนหลัง หรือไม่พิเคราะห์ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 2 ที่ให้ คตส. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณารายชื่อนักการเมืองที่มีพฤติการณ์อันส่อแสดงให้เห็นได้ว่ามีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ ผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริต และให้ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้สาธารณชนทราบ และรวบรวมทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่น่าเชื่อว่าเป็นของบุคคลดังกล่าว และพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลนั้น ๆ ร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. บุคคลใดจะฟ้องร้องหรือดำเนินคดีแพ่ง หรืออาญาใด ๆ มิได้ นอกจากนี้ในข้อ 6ยังให้บรรดาทรัพย์สินที่ คตส.วินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่ผู้ถูกกล่าวหาสามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ คตส. เชื่อว่าทรัพย์สินดังกล่าวตนได้มาโดยชอบภายในกำหนดสิบห้าวันคำวินิจฉัยของ คตส.ตามข้อ 2 และข้อ 6 ดังกล่าวมีผลให้ทรัพย์สินที่ คตส. วินิจฉัยว่าได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นการลงโทษริบทรัพย์สินในทางอาญา โดยที่มิได้ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริงนำคดีไปฟ้องร้องให้เป็นอย่างอื่นได้ อำนาจของ คตส.ดังกล่าวเป็นอำนาจเด็ดขาดซึ่งต่างกับอำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรืออำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ ที่สั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระภาษีอากรค้าง ตามประมวลรัษฎากร ดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง เพราะผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรยังมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลให้พิพากษาเป็นอย่างอื่นได้ แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ รสช.ฉบับนี้ โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็ตาม แต่บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ก็มิได้แก้ไขให้มีทางเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของ คตส. ในข้อที่นักการเมืองคนนั้น ๆ มีทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบหรือมีเพิ่มขึ้นผิดปกติ และร่ำรวยผิดปกติ ผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพโดยสุจริตเพราะตามข้อ 6 วรรคสาม (1)(2) เพียงแต่ให้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของ คตส. ในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่แสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้มาโดยชอบเท่านั้น อำนาจของคตส. ดังกล่าวจึงเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีซึ่งตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยเป็นอำนาจของศาลในอันที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 จึงมีผลเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลให้มีอำนาจทำการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเช่นเดียวกับศาลย่อมขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล และการตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมาย จะกระทำมิได้ นอกจากนี้ทรัพย์สินของผู้ร้องที่ถูกยึด และตกเป็นของแผ่นดินตามคำวินิจฉัยของ คตส.เป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องได้มาหรือมีเพิ่มขึ้นก่อนที่ประกาศ รสช.ฉบับที่ 26 ข้อ 6 ใช้บังคับ จึงเป็นการออกและใช้กฎหมายที่มีโทษในทางอาญาย้อนหลังไปลงโทษแก่ผู้ร้อง ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทบัญญัติห้ามออกกฎหมายที่มีโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลังเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันถือได้ว่าเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอีกประการหนึ่งด้วย เมื่อประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6ขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534มาตรา 30 จึงใช้บังคับได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 222/2506ระหว่างนายสกล สามเสน โจทก์ นายชั้ว พุดทองศิริ กับพวกจำเลย เป็นเหตุให้คำวินิจฉัยของ คตส. ที่อาศัยอำนาจตามประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ข้อ 2 และข้อ 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 26 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ไม่มีผลบังคับไปด้วย อนึ่งที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 32บัญญัติว่า “บรรดาการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่ได้กระทำประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้ทั้งนี้ ที่เกี่ยวเนื่องกับการยึดและควบคุมอำนาจปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใดหรือเป็นในรูปใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศหรือสั่งให้มีผลใช้บังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการให้ถือว่าการกระทำ ประกาศหรือคำสั่ง รวมทั้งการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศ หรือคำสั่งนั้นตลอดจนการกระทำของบุคคลใด ๆซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดหรือควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินดังกล่าวเป็นการกระทำ ประกาศหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” นั้น เป็นเพียงการรับรองโดยทั่วไปว่า ประกาศหรือคำสั่งของ รสช. ดังกล่าวมีผลให้ใช้บังคับได้เช่นกฎหมายเท่านั้น มิได้บัญญัติรับรองไปถึงว่าให้ใช้บังคับได้แม้เนื้อหาตามประกาศหรือคำสั่งของ รสช. ดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 แต่อย่างใด เพราะปัญหาว่าประกาศหรือคำสั่งของ รสช. ใช้บังคับได้เพียงใด ต่างกรณีกันกับปัญหาที่ว่าประกาศหรือคำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และที่ผู้คัดค้านอ้างว่าประกาศ รสช. ฉบับที่ 26 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534ตามมาตรา 222 นั้น เห็นว่า เมื่อประกาศ รสช. ฉบับดังกล่าว ข้อ 2 และข้อ 6 ใช้บังคับมิได้ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคแรก แล้ว จึงมิใช่กฎหมายที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ไม่อาจนำมาตรา 222 มาบังคับใช้แก่กรณีนี้ได้ ปัญหาอื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัย”
มีคำสั่งให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับผู้ร้อง

Share