แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยจะมีเจตนาเพื่อฉ้อโกงผู้เสียหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะต้องฟังจากพยานหลักฐานในสำนวน ฎีกาโจทก์จึงต้องห้าม
ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกง และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เมื่อศาลวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งมีความหมายว่าจำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในข้างสารทั้งหมดไปจากผู้เสียหาย-โดยการซื้อขายตามปกติ เพียงแต่เช็คที่ออกให้เป็นการชำระราคาข้างสารนั้น จำเลยออกให้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และออกให้ใช้เงินจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ดังนี้ หนี้ค่าข้าวสารซึ่งผู้เสียหายได้ส่งมอบให้แก่จำเลย-ยังไม่ระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคสาม ผู้เสียหายชอบที่จะฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ศาลจะสั่งให้คืนข้างสารของกลางแก่ผู้เสียหาย และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาข้าวสารซึ่งไม่ได้ถูกยึดมาเป็นของกลางไปในคดีนี้หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายว่าได้เปิดร้านค้าข้าวสาร ต้องการซื้อข้าวสารไปจำหน่าย ผู้เสียหายหลงเชื่อ ส่งข้าวสารให้ จำเลยชำระเงินเป็นเช็คเมื่อนำเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และปรากฏว่าจำเลยกับพวกปิดร้านหลบหนีไปพร้อมกับขนย้ายข้าวสาร ๔๐๐ กระสอบไปด้วย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมข้าวสาร ๓๓ กระสอบ ขอให้ลงโทกษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๘๓ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ให้คืนข้าวสารของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผุ้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ ให้จำคุกจำเลย ๑ ปี คำขออื่นให้ยก ข้าวสารของกลางให้คืนแก่เจ้าของ
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ข้างสารของกลางคืนจำเลย
โจทก์ฎีกาอ้างว่าเป็นปัญหากฎหมาย ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงและให้คืนข้าวสารของกลางแก่ผู้เสียหาย และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาข้าวสารที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังต้องกันมาว่า จำเลยไม่มีเจตนาจะฉ้อโกงผู้เสียหาย คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเท่านั้น ตามฎีกาของโจทก์พอสรุปได้ว่า จำเลยมีเจตนาจะฉ้อโกงผู้เสียหาย เพราะร้าน “ง้วนไถ่จั่น” นั้น จำเลยเปิดขึ้นเพื่อเป็นการบังหน้าปกปิดวัตถุประสงค์ที่แท้จริง และการชำระราคาข้าวสารใน ๒ ครั้งแรกก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจะได้ข้าวสาร ๔๐๐ กระสอบของผู้เสียหาย ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยจะมีเจตนาเพื่อฉ้อโกงผู้เสียหายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะต้องฟังจากพยานหลักฐานในสำนวน ฎีกาโจทก์จึงต้องห้าม รับวินิจฉัยให้ไม่ได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลสั่งให้คืนข้าวสารของกลางแก่ผู้เสียหาย และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาข้าวสารจำนวน ๙๖,๔๖๕ บาท ที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหายด้วยนั้น เมื่อศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมมีความหมายว่า จำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในข้าวสารทั้งหมดไปจากผู้เสียหายโดยการซื้อขายตามปกติ เพียงแต่เช็คซึ่งจำเลยกับพวกออกให้เป็นการชำระราคาข้าวสารนั้น จำเลยกับพวกออกให้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และออกให้ใช้เงินจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชี อันจะพึงให้ใช้เงินได้เท่านั้น เมื่อหนี้ค่าข้าวสารซึ่งผู้เสียหายได้ส่งมอบให้แก่จำเลยกับพวกยังไม่ระงับสิ้นไป ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๑ วรรคสาม ผู้เสียหายก็ชอบที่จะฟ้องเรียกให้จำเลยกับพวกชำระหนี้เป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก ศาลจะสั่งให้คืนข้าวสารของกลางแก่ผู้เสียหาย และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาข้าวสารซึ่งไม่ได้ถูกยึดมาเป็นของกลางไปในคดีนี้หาได้ไม่
พิพากษายืน.