คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2372/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 102 บัญญัติยกเว้นเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341,342 เท่านั้นว่า หนี้ซึ่งหักกลบลบกันไม่ได้ตาม มาตรา 341,342 นั้นย่อม หักกลบลบกันได้ในกรณีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ตาม พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ไม่รวมถึง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1119 ซึ่งบัญญัติห้ามเด็ดขาดมิให้ผู้ถือหุ้นหักหนี้ กับบริษัท ดังนั้น ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้(จำเลย) จึงจะขอหักหนี้ค่าพิมพ์หนังสือที่บริษัทลูกหนี้(จำเลย) เป็นหนี้อยู่กับหนี้ค่าหุ้นที่ผู้ร้องค้างชำระบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 102 หาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้ สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทลูกหนี้ (จำเลย)และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ค้างจำนวน375,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวเสีย อ้างว่าได้ขายหุ้นดังกล่าวให้นายนิพนธ์ โลหิตเสถียร ไปแล้ว หากจะฟังว่าผู้ร้องยังถือหุ้นอยู่ ก็ขอหักกลบลบหนี้ค่าจ้างพิมพ์หนังสือซึ่งบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) เป็นลูกหนี้ผู้ร้องอยู่
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า การโอนขายหุ้นของผู้ร้องให้นายนิพนธ์ไม่ได้จดทะเบียนโอนหุ้นกัน จึงไม่อาจนำมาใช้ยันกับบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) และบุคคลภายนอกได้ และผู้ร้องจะขอหักกลบลบหนี้ไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกว่า ผู้ร้องได้โอนขายหุ้นของผู้ร้องทั้งหมดให้นายนิพนธ์ โลหิตเสถียร โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยผู้ร้องฎีกาว่าหุ้นของผู้ร้องมิใช่หุ้นชนิดระบุชื่อในใบหุ้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1129 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น ดังนั้นการโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องกับนายนิพนธ์จึงมีผลผูกพันบริษัทจำเลยพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าการที่ผู้ร้องฎีกาว่า หุ้นของผู้ร้องมิใช่หุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือหุ้นในใบหุ้นนั้น ย่อมหมายความว่าเป็นหุ้นซึ่งออกให้แก่ผู้ถือนั่นเอง ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1134 บัญญัติว่า “ใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้นจะออกได้ก็แต่เมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ และจะออกให้ได้ก็แต่เฉพาะเพื่อหุ้นซึ่งได้ใช้เต็มค่าแล้ว ในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ทรงใบหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมมีสิทธิจะได้รับใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ เมื่อเวนคืนใบหุ้นชนิดระบุชื่อนั้นให้ขีดฆ่าเสีย”ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่าบริษัทจะออกใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือได้เฉพาะผู้ถือหุ้นที่ได้ชำระเงินค่าหุ้นครบถ้วนแล้วตามมูลค่าหุ้น ดังนั้นผู้ร้องจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าหุ้นของผู้ร้องเป็นหุ้นซึ่งออกให้แก่ผู้ถือ หุ้นของผู้ร้องจึงเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อในใบหุ้นอันต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสาม เมื่อผู้ร้องโอนหุ้นให้แก่นายนิพนธ์โดยไม่ได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักงานผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลย การโอนดังกล่าวย่อมใช้ยันบริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จึงต้องถือว่าผู้ร้องยังคงถือหุ้นบริษัทจำเลยอยู่ และยังค้างชำระค่าหุ้นเป็นเงิน 375,000 บาท ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
ผู้ร้องฎีกาข้อที่สองว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะหักหนี้ค่าจ้างพิมพ์หนังสือที่บริษัทจำเลยเป็นหนี้อยู่กับหนี้ค่าหุ้นที่ค้างชำระ ซึ่งผู้ร้องเป็นลูกหนี้บริษัทจำเลยได้โดยถือว่าผู้ร้องขอหักกลบลบหนี้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 102 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในเรื่องหักกลบลบหนี้นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคแรก บัญญัติวางหลักไว้ว่า”ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุอย่างเดียวกันและหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบหนี้ได้”ซึ่งหมายความว่า หนี้ทั้งสองรายที่จะหักกลบลบกันได้นั้นจะต้องมีวัตถุแห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน และต้องถึงกำหนดชำระแล้ว และมาตรา 342 วรรคแรก บัญญัติว่า”หักกลบลบหนี้นั้น ทำได้ด้วยคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง การแสดงเจตนาเช่นนี้ท่านว่าจะมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสิ้นสุดอีกด้วยหาได้ไม่”ซึ่งหมายความว่าการหักกลบลบหนี้กันนั้นจะมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาหาได้ไม่ ส่วนพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 102 บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้เป็นลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ถึงแม้ว่ามูลแห่งหนี้ทั้งสองฝ่ายจะไม่มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันก็ดี หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาก็ดีก็อาจหักกลบลบหนี้ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว” ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ามาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 บัญญัติเป็นทำนองยกเว้นเฉพาะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 341 มาตรา 342 เท่านั้น ว่าหนี้ซึ่งหักกลบลบกันไม่ได้ตามมาตรา 341 มาตรา 342 นั้น ย่อมหักกลบลบกันได้ในกรณีที่ลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 แต่สำหรับกรณีตามคดีนี้นั้น เป็นเรื่องผู้ร้อง (เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้) ขอหักหนี้ค่าพิมพ์หนังสือที่บริษัทลูกหนี้ (จำเลย)เป็นหนี้อยู่กับหนี้ค่าค้างชำระค่าหุ้นที่ผู้ร้องเป็นหนี้บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) เห็นว่ากรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1119 วรรคแรก บัญญัติว่า”หุ้นทุก ๆ หุ้นจำต้องให้ใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติมาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221″ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่” ปรากฏว่าหุ้นของผู้ร้องไม่ใช่หุ้นที่ออกตามบทบัญญัติ มาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้น มาตรา 1119 วรรคสอง จึงห้ามโดยเด็ดขาดมิให้หักหนี้กับบริษัทผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลย (ลูกหนี้ป จึงไม่อาจยกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 102 มาอ้างขอหักหนี้เงินค่าหุ้นกับหนี้ค่าพิมพ์หนังสือที่บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) เป็นหนี้ผู้ร้องอยู่ได้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกันน
พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ฎีกาเอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้

Share