คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยชักชวนโจทก์ร่วมให้ลงทุนทำธุรกิจกับจำเลย โดยอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ของโรงแรมเพื่อจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมไทยให้ชาวต่างประเทศมาซื้อและนำไปทำกล่องปากกาย่านลิเภาส่งให้บริษัท ก. พร้อมกับนำหลักฐานการติดต่อโรงแรมและบริษัท ก. มาให้ดู โจทก์ร่วมจึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยรวม 13 ครั้ง จากนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่เห็นว่าจำเลยจะดำเนินการใดๆ และคอยติดตามทวงถามจำเลยว่าดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจไปมากน้อยเพียงใด จำเลยบ่ายเบี่ยงว่ากำลังติดต่ออยู่และยังดำเนินการไม่เสร็จ โจทก์ร่วมจึงทวงเงินคืน แต่แทนที่จำเลยจะคืนเงินกลับสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ร่วมสองฉบับ ซึ่งนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2543 อันเป็นวันที่โจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยครั้งแรกถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมนั้นก็เป็นระยะเวลาหลายเดือน โจทก์ร่วมย่อมน่าจะรู้แต่นั้นแล้วว่าจำเลยหลอกลวงเอาเงินไปโดยมิได้ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจตามที่ชักชวนไว้ ครั้นโจทก์ร่วมนำเช็คทั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมทวงถาม แต่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายอีก จึงเป็นพฤติการณ์ที่มาสนับสนุนให้โจทก์ร่วมรู้แน่ชัดยิ่งขึ้นอีกว่าถูกจำเลยหลอกลวงแล้ว การที่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นไม่เป็นผลลบล้างการรับรู้ของโจทก์ร่วมที่ถูกจำเลยหลอกลวง แต่วันที่โจทก์ร่วมไปทวงถามเงินคืนจากจำเลยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นวันใด จึงต้องถือเอาวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมเป็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมแล้ว เมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยวันที่ 1 ตุลาคม 2544 จึงเกินกว่า 3 เดือน คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 1,332,350 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางนภาพร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ลงโทษจำคุก 3 ปี และให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 1,332,350 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง โจทก์ร่วมโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย รวม 13 ครั้ง เป็นเงิน 1,092,350 บาท ตามใบรับฝากและใบนำฝาก ต่อมาจำเลยสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ร่วม 2 ฉบับ ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 จำนวนเงิน 40,000 บาท และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 จำนวนเงิน 200,000 บาท โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และวันที่ 1 ตุลาคม 2544 โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาฉ้อโกง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ร่วมเบิกความว่า จำเลยชักชวนโจทก์ร่วมให้ลงทุนทำธุรกิจกับจำเลยโดยอ้างว่าจะนำเงินลงทุนไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่โรงแรมเพื่อจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมไทยให้ชาวต่างประเทศมาซื้อ และนำไปทำกล่องปากกาย่านลิเภาส่งให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมกับนำหลักฐานการติดต่อโรงแรมและบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) มาให้ดู โจทก์ร่วมจึงโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย รวม 13 ครั้ง เป็นเงิน 1,092,350 บาท โดยเริ่มโอนเงินให้ครั้งแรกวันที่ 28 เมษายน 2543 ตามใบรับฝากและใบนำฝาก จากนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่เห็นว่าจำเลยจะดำเนินการใดๆ และคอยติดตามทวงถามจำเลยว่าดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจไปมากน้อยเพียงใด จำเลยบ่ายเบี่ยงว่ากำลังติดต่ออยู่ยังดำเนินการไม่เสร็จ โจทก์ร่วมจึงทวงเงินคืน จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ร่วม 2 ฉบับ โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมติดต่อทวงถามอีก แต่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไปดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่โจทก์ร่วมยังไม่ได้รับเงินคืนจากจำเลย โจทก์ร่วมตรวจสอบจนทราบว่าจำเลยไม่เคยนำสินค้าไปแสดงและจำหน่ายตามโรงแรมต่างๆ และไม่เคยขายสินค้าให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงรู้ว่าตนถูกจำเลยหลอกลวง และไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เห็นว่า หลังจากโจทก์ร่วมโอนเงินเข้าบัญชีให้แก่จำเลยแล้วโจทก์ร่วมก็ไม่เห็นว่าจำเลยจะดำเนินการใดๆ และคอยติดตามทวงถามจำเลยว่าดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจไปมากน้อยเพียงใด จำเลยบ่ายเบี่ยงว่ากำลังติดต่ออยู่และยังดำเนินการไม่เสร็จ โจทก์ร่วมจึงทวงเงินคืนแต่แทนที่จำเลยจะคืนเงินกลับสั่งจ่ายเช็คให้ ซึ่งนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2543 อันเป็นวันที่โจทก์ร่วมโอนเงินให้จำเลยครั้งแรกถึงวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมนั้นก็เป็นระยะเวลาหลายเดือน โจทก์ร่วมย่อมน่าจะรู้แต่นั้นแล้วว่าจำเลยหลอกลวงเอาเงินไปโดยมิได้ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจตามที่ชักชวนไว้ ครั้นโจทก์ร่วมนำเช็คไปเรียกเก็บเงินธนาคารก็ปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ร่วมติดต่อทวงถาม แต่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายอีก ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่มาสนับสนุนให้โจทก์ร่วมรู้แน่ชัดยิ่งขึ้นอีกว่าถูกจำเลยหลอกลวงแล้ว การที่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น ไม่เป็นผลลบล้างการรับรู้ของโจทก์ร่วมที่ถูกจำเลยหลอกลวงดังวินิจฉัยมาข้างต้นเสียไป แต่วันที่โจทก์ร่วมไปทวงถามเงินคืนจากจำเลยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเป็นวันใด จึงต้องถือเอาวันที่ 10 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับแรกให้โจทก์ร่วมเป็นวันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมแล้ว เมื่อโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยวันที่ 1 ตุลาคม 2544 จึงเกินกว่า 3 เดือน คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า หลังจากโจทก์ร่วมนำเช็คไปเรียกเก็บเงินไม่ได้โจทก์ร่วมติดต่อทวงถามอีก แต่จำเลยผัดผ่อนว่าจะนำเงินสดมาชำระคืนและขอให้โจทก์ร่วมไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่โจทก์ร่วมก็ยังไม่ได้รับเงินคืนจากจำเลย จึงไปตรวจสอบจนทราบว่าจำเลยไม่เคยนำสินค้าไปแสดงและจำหน่ายตามโรงแรมต่างๆ และไม่เคยขายสินค้าให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วมจึงรู้ว่าตนถูกจำเลยหลอกลวงนับแต่นั้นมานั้น เห็นว่า แม้จะมีนางศรัญญาและนางสาววนิดามาเบิกความสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยไม่เคยนำสินค้าไปแสดงและจำหน่ายตามโรงแรมต่างๆ และไม่เคยขายสินค้าให้แก่บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็ตามแต่ก็ไม่ได้ความว่าโจทก์ร่วมไปติดต่อตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในช่วงเวลาใดจึงเป็นการง่ายที่โจทก์ร่วมจะยกเอาเรื่องดังกล่าวขึ้นมาอ้างเพื่อไม่ให้คดีของโจทก์ร่วมขาดอายุความ เมื่อโจทก์ร่วมยกเอาเรื่องดังกล่าวขึ้นมาอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นมาสนับสนุนแล้วเช่นนี้ ข้ออ้างของโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share