แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากเจ้าหนี้เป็นจำนวนไม่เกิน 20,000 บาท ในวันเดียวกันลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2ยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวตลอดจนดอกเบี้ยและเงื่อนไขในสัญญาโดยไม่ได้ระบุวงเงินค้ำประกันไว้ แสดงว่าลูกหนี้ที่ 2 ยอมเข้าค้ำประกันลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 ในวงเงินเพียง20,000 บาท ดังนี้ลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 1 ในวงเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญานับแต่วันผิดนัด จนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คำพิพากษาในคดีแพ่งที่ให้ลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 ร่วมรับผิดกับลูกหนี้จำเลยที่ 1 เต็มตามจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้นั้น ไม่ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะสอบสวนและมีความเห็นให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯมาตรา 94,105 และศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตามมาตรา 107(3) ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 ชำระเป็นหนี้ที่ผูกพันลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเจ้าหนี้ย่อมขอรับชำระหนี้นี้ในคดีล้มละลายได้.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องนายสมชาย หรือปกรณ์ เริงเกษกรรม จำเลยที่ 1 นางสาวสุนันท์ชวะโนทย์ จำเลยที่ 2 ขอให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่22 กรกฎาคม 2530 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมเงินต้นและดอกเบี้ย จนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นเงิน183,034.82 บาท กับค่าฤชาธรรมเนียม 3,500 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่า ลูกหนี้ที่ 1จะต้องรับผิดในมูลหนี้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงินจำนวน79,284.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน68,306.05 บาท นับจากวันที่ 17 กันยายน 2519 ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นเงินดอกเบี้ย 103,724.17 บาทค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความ 3,044.50 บาท รวมเป็นเงิน186,053.11 บาท ส่วนลูกหนี้ที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ในวงเงินตามสัญญาค้ำประกันเพียง 20,000 บาท เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จำนวน 186,053.11 บาท ตามมาตรา 130(8)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยแบ่งความรับผิดให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นเงิน 186,053.11บาท ให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงิน20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เจ้าหนี้ ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน183,008.61 บาท และค่าฤชาธรรมเนียมจำนวน 3,044.50 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 186,053.11 บาท จากการทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 107(2)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ทั้งสองเป็นจำเลยในข้อหาผิดสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและค้ำประกัน ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสองชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมให้เจ้าหนี้ปรากฏตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10371/2519 ของศาลแพ่งเอกสารหมาย จ.10 หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวเกิดจากลูกหนี้ที่ 1ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับเจ้าหนี้ ตามเอกสารหมาย จ.4ในสัญญาระบุจำนวนวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีไว้ 20,000 บาทและลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้ที่ 1 ไว้ต่อเจ้าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 ในสัญญาดังกล่าวข้อ 1 มีข้อความว่า “ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่กล่าวแล้วตลอดจนดอกเบี้ยและเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวนั้นทั้งสิ้นจนกว่าธนาคารจะได้รับชำระหนี้โดยครบถ้วน” และขีดคำว่า”โดยค้ำประกันในวงเงิน…บาท” ออก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีความเห็นว่า ลูกหนี้ที่ 2 จะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ตามจำนวนเงินที่ปรากฏตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำนวน 20,000 บาทเท่านั้นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยจึงมีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 เป็นเงินเท่าใด และลูกหนี้ที่ 2จะต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10371/2519 ของศาลแพ่งด้วยหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนถึงมูลหนี้เดิมอันเป็นที่มาของคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว ได้ความว่ามูลหนี้เดิมเกิดจากลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับเจ้าหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งใจความในสัญญา ข้อ 1 ระบุไว้ว่า ลูกหนี้ที่ 1 ขอเบิกเงินเกินบัญชีจากเจ้าหนี้เป็นจำนวนไม่เกิน 20,000 บาทสัญญาดังกล่าวลงวันที่ 29 มิถุนายน 2516 ในวันเดียวกันนี้ลูกหนี้ที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้ที่ 1 ไว้ตามเอกสารหมาย จ.5ในสัญญาข้อ 1 มีข้อความว่า ลูกหนี้ที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีจากเจ้าหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2516เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ลูกหนี้ที่ 2 ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่กล่าวแล้วตลอดจนดอกเบี้ยและเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวนั้นทั้งสิ้นเห็นว่าสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีหมาย จ.4 แม้จะไม่ได้ระบุวงเงินค้ำประกันไว้โดยการขีดฆ่าข้อความที่กำหนดวงเงินออกก็ตาม แต่สัญญาเอกสารหมาย จ.5ก็เกี่ยวเนื่องกับสัญญาเอกสารหมาย จ.4 โดยระบุจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีได้ไม่เกิน 20,000 บาทและลูกหนี้ที่ 2 เข้าค้ำประกันและยอมรับผิดในจำนวนเงินดังกล่าวสัญญาทั้งสองฉบับทำในวันเดียวกัน แสดงว่าลูกหนี้ที่ 2 ยอมเข้าค้ำประกันลูกหนี้ที่ 1 ในวงเงินที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ที่ 1เบิกเงินเกินบัญชีได้ ฉะนั้นจึงถือได้ว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่ 2ตกลงกันให้ลูกหนี้ที่ 2 ค้ำประกันลูกหนี้ที่ 1 ภายในวงเงินดังกล่าวลูกหนี้ที่ 2 จึงต้องรับผิดในวงเงินตามสัญญาจำนวน 20,000 บาทเท่านั้น เจ้าหนี้จะแปลสัญญาดังกล่าวว่าลูกหนี้ที่ 2 มีเจตนาค้ำประกันของลูกหนี้ที่ 1 เกินกว่าวงเงิน 20,000 บาท หาได้ไม่ส่วนที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปเกินกว่าจำนวนเงิน 20,000 บาท ก็เป็นเรื่องความตกลงยินยอมกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่ 1 เท่านั้น หาได้ผูกพันลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและมิได้ตกลงยินยอมด้วยไม่ ลูกหนี้ที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกับลูกหนี้ที่ 1 จำนวน 20,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญานับแต่วันผิดนัด (2 มิถุนายน 2518)จนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนที่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่10371/2519 ของศาลแพ่งพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2 รับผิดร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 เต็มตามจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้นั้นไม่ผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะสอบสวนและมีความเห็นให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามนัยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94, 105 และศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ ตามนัยมาตรา 107(3) แต่ที่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดดอกเบี้ยในต้นเงิน 20,000 บาท ให้กับเจ้าหนี้ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ได้ด้วย…
ข้อที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปคือ ลูกหนี้ที่ 2 จะต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมด้วยหรือไม่ เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้โดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10371/2519ของศาลแพ่งให้ลูกหนี้ที่ 2 รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมร่วมกับลูกหนี้ที่ 1 ด้วย เห็นว่า ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2 ชำระหนี้ถือเป็นหนี้ผูกพันลูกหนี้ที่ 2 จะต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเจ้าหนี้ย่อมขอรับชำระหนี้ในส่วนนี้ในคดีล้มละลายได้ด้วย…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 2 เป็นเงิน 23,044.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ในต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันผิดนัด(2 มิถุนายน 2518) จนถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.