แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 รับฝากสินค้าทับทิมเจียระไนราคาหกแสน บาทเศษจากโจทก์แล้วให้บริษัทการบิน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งถุง ไปรษณีย์บรรจุสินค้านั้นจนถึงเมืองปลายทางในต่างประเทศโดยโจทก์ประกันภัยการขนส่งสินค้าดังกล่าวไว้กับผู้ร้องสอด ปรากฏว่าสินค้าสูญหาย เมื่อการฝากส่งสินค้าของโจทก์เป็นลักษณะไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนประเภทจดหมายรับประกัน โจทก์ขอให้รับประกันไว้เป็นจำนวนเงิน 3,950 บาท หรือ 500 แฟรงก์ ทองซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่จำเลยที่ 1 จะรับประกันได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามจำนวนที่รับประกันไว้แม้จะมีการแจ้งราคาไว้ในแบบพิมพ์ที่ปิดไว้ที่ไปรษณียภัณฑ์เพื่อประโยชน์ของโจทก์ทางศุลกากร ก็มิใช่การระบุแจ้งราคาต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 30 การขนไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ จะนำบทบัญญัติเรื่องรับขนตามป.พ.พ. ลักษณะ 8 หมวด 1 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ซึ่งมีนิติสัมพันธ์เฉพาะ กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ขนส่งหลายคนหรือหลายทอด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 และโจทก์ซึ่งไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2524 โจทก์ส่งทับทิมเจียระไน 1 เม็ด ราคา 667,156.50 บาท ไปจำหน่ายแก่ผู้ซื้อณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเสียค่าธรรเมียมส่งเป็นไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศ ลงทะเบียนรับกันต่อจำเลยที่ 1 โดยแจ้งสิ่งของ น้ำหนัก ราคาของสิ่งของตามแบบพิมพ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ได้ว่าจ้างำจเลยที่ 2 ขนส่ง ต่อมาเดือนมีนาคม 2524 โจทก์ได้รับแจ้งจากผู้ซื้อว่ายังมิได้รับสินค้าที่ส่งไป จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ส่งตามราคาอันแท้จริงของสิ่งของไปรษณียภัณฑ์ ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ทำการขนส่งต้องร่วมกับจำเลยที่ 1ชดใช้ค่าเสียหายตามราคาทับทิมดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ประเภทจดหมายรับประกันโดยโจทก์ขอประกันไว้กับจำเลยที่ 1 ในประเภทจดหมายรับประกันเป็นเงิน 3,950 บาท จำเลยที่ 1 มิได้มีระเบียบ ข้อบังคับหรือแบบพิมพ์กำหนดให้ผู้ฝากส่งต้องจดแจ้งว่าได้บรรจุสิ่งของใดน้ำหนักและราคาเท่าใด และที่โจทกือ้างว่าได้บรรจุทับทิมเจียระไนจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องรับรู้ หากต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ก็รับผิดเฉพาะค่ารับประกันและค่าธรรมเนียมรวมเป็นเงิน 4,287 บาท เท่านั้นขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เคยนำเที่ยวไปรษณีย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งปิดและมีตราประทับเรียบร้อยไปส่งที่ทำการไปรษณีย์ต่างประเทศหลายครั้ง จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าในเที่ยวไปรษณีย์นั้นมีสิ่งใดบรรจุอยู่และนำส่งถุงไปรษณีย์ไปยังปลายทางโดยถุงและตรามิได้ชำรุด จำเลยที่ 2 มิได้ทำให้สินค้าของโจทก์สูญหาย จึงไม่ต้องรับผิดผู้ร้องสอดรับประกันภัยในการขนส่งทางทะเล มิได้คุ้มครองการขนส่งทางไปรษณีย์และทางอากาศ ผู้ร้องสอดไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระเงินแก่โจทก์ จึงเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
บริษัทไพบูลย์ประกันภัย จำกัด ร้องสอดว่า ผู้ร้องรับประกันภัยการขนส่งสินค้าอัญมณีดังกล่าวในวงเงิน 743,958.24 บาท ต่อมาได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าสินค้าดังกล่าวหายไป ผู้ร้องได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แล้วตามจำนวนดังกล่าว และรับช่วงสิทธิมารับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสอง จึงขอร้องสอดเข้ามาแทนที่โจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายรวม 4, 287 บาทพร้อมดอกเบี้ยและยกฟ้องจำเลยที่ 2
ผู้ร้องสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนและรับประกันกับจำเลยที่ 1 เพื่อใ้ส่งไ่ปยังผู้รับปลายทางที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไปรษณียภัณฑ์ที่โจทก์ฝากส่งได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย และผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้ว ปรากฏตามเอสการหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยที่ 1 ออกใบรับฝากไปรษณีย์ภัณฑ์นั้นให้โจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 แล้วโจทก์ประกันภัยไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวไว้กับผู้ร้องสอดเป็นเงิน 35,888 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยจำนวน 743,958.24 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 มอบถุงไปรษณีย์ซึ่งมีไปไปรษณียภัณฑ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยให้จำเลยที่ 2 ขนส่งไปยังปลายทาง จำเลยที่ 2 ขนถึงไปรษณีย์ดังกล่าวไปส่งแก่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ไปรษณีย์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แจ้งมายังจำเลยที่ 1 ว่า ถุงไปรษณีย์ถึงเมืองปลายทางในสภาพเรียบร้อยแต่ไปรษณียภัณฑ์ของโจทก์สูญหายไป ในชั้นนี้มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนราคาไปรษณีย์ภัณฑ์ดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่า โจทก์ฝากส่งไปรษรียภัณฑ์ลงทะเบียนแลรับประกันกับจำเลยที่ 1 โดยระบุแจ้งราคาไว้ในแบบพิมพ์ ซี.1 ซึ่งปิดไว้ที่ไปรษณียภัณฑ์แล้ว เมื่อไปรษณียภัณฑ์ของโจทก์สูญหายไป จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามราคาที่โจทก์ระบุแจ้งไว้ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 30 นั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 บัญญัติให้การขนไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลขอยู่ในบังคับตามกฎหมายและกฏข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้น ๆ ดังนี้ การที่โจทก์ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477และไปรษณีย์นิเทศ พุทธศักราช 2520 ซึ่งเป็นกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้อยู่ในขณะโจทก์ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์นั้น ไปรษณียภัณฑ์ที่โจทก์ฝากส่งโดยลงทะเบียนและรับประกันเป็นไปรษณียภัณฑ์ชนิดจดหมายไม่ใช่ไปรษณียภัณฑ์ชนิดพัสดุย่อยซึ่งจะฝากส่งในประเภทรับประกันไม่ได้ตามไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ข้อ 246 อีกทั้งการที่โจทก์ระบุแจ้งราคาไว้ในแบบพิมพ์ซึ่งปิดไว้ที่ไปรษณียภัณฑ์ตามที่โจทก์นำสืบเป็นการระบุแจ้งเพื่อประโยชน์ของโจทก์ทางศุลกากรหาใช่ระบุแจ้งราคาต่อจำเลยที่ 1 ไม่ ผู้ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ชนิดจดหมายจะขอให้รับประกันได้ เป็นจำนวนเงินอย่างสูงไม่เกิน3,950 บาท หรือ 500 แฟรงก์ทองต่อจดหมาย 1 ฉบับ ทั้งนี้ตามไปรษณียนิเทศ พุทธศักราช 2520 ข้อ 146 ไปรษณียภัณฑ์ที่ดจทก์ฝากส่งโดยลงทะเบียนและรับประกันกับจำเลยที่ 1 ก็ปรากฏตามใบรับฝากไปรษณียภัณฑ์ที่จำเลยที่ 1 อออกให้โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.7 ว่าโจทก์ขอให้รับประกันไว้เป็นจำนวนเงิน 3,950 บาท หรือ 500แฟรงก์ทองเท่านั้น โจทก์หาได้ขอให้จำเลยที่ 1 รับประกันเป็นจำนวนเงินเท่ากับราคาที่โจทก์ระบุแจ้งไว้ในแบบพิมพ์ซี. 1 ซึ่งโจทก์ปิดไว้ที่ไปรษณียภัณฑ์ไม่ เมื่อไปรษรียภัณฑ์ที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1รับประกันสูญหายไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายคือจำนวนเงินที่ขอประกันไว้เป็นเงิน 3,950 บาท หรือ 500 แฟรงก์ทองกับค่าธรรมเนียมฝากส่งและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เว้นแต่ค่าธรรมเนียมรับประกันเป็นเงิน 337 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,287 บาท ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 24 และไปรษณีย์นิเทศพุทธศักราช 2520 ข้อ 152,155 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ไปรษณียภัณฑ์ของโจทก์ต้องสูญหายไปตามจำนวนเงินดังกล่าวแล้ว โจทก์จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามราคาไปรษณียภัณฑ์ที่โจทก์ระบุแจ้งราคาไว้ในแบบพิมพ์ ซี 1 เป็นเงิน32,000 เหรียญสหรัฐ หรือเป็นเงินไทยจำนวน 667,156.50 บาท ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477มาตรา 30 และเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่โจทก์ขอประกันไว้หาได้ไม่อนึ่ง ที่ผู้ร้องสอดฎีกาว่า ตามใบรับฝากไปรษณียภัณฑ์เอกสารหมายจ.7 จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดวงเงินรับประกันไปรษณียภัณฑ์ดังกล่าวเองโดยโจทก์มิได้ยินยอมด้วย อีกทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ยกเรื่องข้อจำกัดความรับผิดตามไปรษณียนิเทศขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การนั้นเห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์ฝากส่งไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนและรับประกันกับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมทราบดีว่าโจทก์ขอประกันไปรษณียภัณฑ์นั้นไว้เป็นดกจำนวนเงินเท่าใด หากโจทก์มิได้ขอประกันตามจำนวนเงินที่บันทึกไว้ในใบรับฝากไปรษณียภัณฑ์เอกสารหมาย จ.7โจทก์คงทักท้วงจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1มิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ในคำให้การก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ยกเป็นข้อต่อสู้ไว้แล้ว ฎีกาข้อต่อมาผู้ร้องสอดฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งถุงไปรษณียซึ่งมีไปรษณียภัณฑ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยต่อจากจำเลยที่ 1 การขนส่งดังกล่าวจึงมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด เมื่อไปรษณียภัณฑ์ของโจทก์สูญหายไปจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 667,156.50บาท แก่โจทก์ด้วยนั้นเห็นว่าการขนไปรษณียภัณฑ์ในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษจะนำบทบัญญัติเรื่องรับขนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 8 หมวด 1 มาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งมีนิติสัมพันธ์เฉพาะกับจำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงมิใช่ผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 โจทก์ซึ่งไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 หามีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ไปรษณียภัณฑ์ของโจทก์สูญหายไปไม่”
พิพากษา.