แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรได้ประกาศระบุให้เนื้อสุกรเป็นสิ่งที่ควบคุมและประกาศห้ามมิให้จำหน่ายเนื้อสุกรเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้ด้วย คณะกรรมการฯ จึงมีอำนาจประกาศห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตเข้าหรือออกนอกเขตอำเภอได้ ประกาศของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวจึงเป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยฝ่าฝืนก็ต้องมีความผิด
สิ่งของที่จะพึงริบตามมาตรา 29 พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรฯ จะต้องเป็นสิ่งของที่เกี่ยวกับการกระทำผิดในการค้ากำไรโดยตรงคือเป็นสิ่งของที่เกี่ยวกับการกระทำผิดตามมาตรา 18 เมื่อการกระทำผิดของจำเลยเป็นเพียงฝ่า ประกาศของคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 17 สุกรของกลางจึงไม่ใช่เป็นของอันจะพึงริบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดหนองคายได้ออกประกาศฉบับที่ 8 พ.ศ. 2517 ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อยย้ายสุกรมีชีวิตเข้าหรือออกนอกเขตอำเภอนอกจากจะได้รับหนังสืออนุญาตจากคณะกรรมการฯส่วนการเคลื่อนย้ายออกนอกเขตตำบลในอำเภอเดียวกันต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากนายอำเภอท้องที่หรือผู้รักษาการแทน จำเลยทราบประกาศแล้วได้ร่วมกันเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิต 10 ตัวออกจากท้องที่อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เข้ามายังท้องที่อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 6, 8, 10, 17, 23, 24, 29 (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2517 มาตรา 3, 6, 11 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควร จังหวัดหนองคาย ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2517 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2517 ปรับจำเลยคนละ 1,000 บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยคนละ500 บาท สุกรของกลางริบ คืนรถยนต์ให้เจ้าของ จ่ายสินบนนำจับและรางวัลตามกฎหมาย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จ่ายสินบนนำจับให้แก่ผู้แจ้งความนำจับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประกาศของคณะกรรมการฯ ฉบับดังกล่าวได้ประกาศโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490มาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2517 มาตรา 3 ซึ่งได้ระบุให้เนื้อสุกรเป็นสิ่งที่ควบคุมและประกาศห้ามมิให้จำหน่ายเนื้อสุกรเกินกว่าราคาที่กำหนดไว้ด้วย คณะกรรมการฯ จึงมีอำนาจประกาศห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตเข้าหรือออกนอกเขตอำเภอได้ จึงเป็นประกาศที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ฝ่าฝืนก็ต้องมีความผิด ประกาศฉบับดังกล่าวมีข้อความชัดแจ้งเกี่ยวกับเรื่องห้ามการเคลื่อนย้ายสุกรเข้าหรือออกนอกเขตอำเภอไมมีข้อความตอนใดเคลือบคลุมดังที่จำเลยฎีกา และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรฯ ต้องการจะให้มีเนื้อสุกรจำหน่ายแก่ผู้บริโภคภายในเขตท้องที่ ห้ามขนย้าย ฉะนั้น การที่จำเลยขนย้ายสุกรเข้ามาในที่เกิดเหตุเพื่อฆ่าและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคเพื่อมิให้เกิดความขาดแคลนการกระทำของจำเลยย่อมตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่ควรมีความผิดนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังไม่พอฟังได้ตามฎีกาของจำเลยแต่ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยและริบสุกรของกลางนั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นเพียงการฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 8 อันเป็นความผิดตามมาตรา 17 เท่านั้น หามีความผิดตามมาตรา 23 และ 24 ด้วยไม่ และเห็นว่าสิ่งของที่จะพึงริบตามมาตรา 29พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควรฯ จะต้องเป็นสิ่งของที่เกี่ยวกับการกระทำผิดในการค้ากำไรโดยตรง คือ เป็นสิ่งของที่เกี่ยวกับการกระทำผิดตามมาตรา 18 เมื่อการกระทำผิดของจำเลยในคดีนี้เป็นเพียงฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 17 สุกรของกลางจึงไม่ใช่เป็นของอันจะพึงริบ
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 มาตรา 8, 17พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2517 มาตรา 3, 6สุกรของกลางไม่ริบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์