คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ทรัพย์สิน” ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หมายถึงทรัพย์ซึ่งมีราคาและถือเอาได้โดยสภาพของตัวทรัพย์นั้นเอง โดยไม่จำกัดว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของ
โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดหุ้นมาเพื่อขายทอดตลาดใช้หนี้ตามคำพิพากษาแล้วได้ขอถอนการยึดเสีย แม้ได้ความว่าหุ้นที่ยึดมานั้นไม่ใช่ของจำเลย โจทก์ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามตาราง 5ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ.

ย่อยาว

ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดใบหุ้นของบริษัทดุสิตธานี จำกัด ๑๐,๐๐๐ หุ้น มูลค่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์ตามคำพิพากษา นายพุน วิงตุง หรือปีเตอร เอ.พุน ร้องขอให้ปล่อยใบหุ้นอ้างว่า ไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลย แต่เป็นของผู้ร้องได้รับโอนมาจากจำเลย คดียุติโดยผู้ร้องขอถอนคำร้อง และโจทก์ถอนการยึด
ต่อมาโจทก์ยื่นคำรองว่า โจทก์สำคัญผิดคิดว่าใบหุ้นเป็นของจำเลยจึงได้นำยึดมา เมื่อใบหุ้นไม่ใช่ของจำเลยที่จะบังคับไม่ได้ โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมยึดไม่มีการขาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ ๓ ครึ่งตามตาราง ๕ ข้อ ๓ ท้ายประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า คำว่าทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๙ หมายความถึงทรัพย์ที่มีราคาและถือเอาได้ แต่ใบหุ้น (ซึ่งต้องหมายความถึงหุ้น) ที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้อง ไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยซึ่งอาจจะมีราคาได้ และจำเลยจะถือกรรมสิทธิ์เอาได้ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินตามตาราง ๕ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการยึดไม่มีการขาย
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่าคำว่า “ทรัพย์สิน” ตามตาราง ๕ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ย่อมหมายถึงทรัพย์ซึ่งมีราคาและถือเอาได้โดยสภาพของตัวทรัพย์นั้นเอง โดยไม่จำกัดว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของหุ้นที่โจทก์นำยึดเป็นทรัพย์ที่มีราคาและถือเอาได้โดยสภาพแล้ว โจทก์ต้องเสียค่าธรรมเนียมการยึด
พิพากษายืน

Share