แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ฝ่ายเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ ส่วนการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ที่ดินก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและเดินสายไฟฟ้าผ่าน เจ้าของที่ดินมิได้เสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ เพียงแต่เสียสิทธิเกี่ยวกับการใช้ที่ดินดังกล่าวไปบ้าง จึงเป็นการเสียหายน้อยกว่ามากการจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินย่อมต้องให้ต่ำกว่าการจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จึงนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 มาตรา 28 วรรคสามมาใช้ เช่นเดียวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจ่ายค่าทดแทนที่ดินตามราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เนื้อที่ 18 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวาจำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและเดินสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของโจทก์ คิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 64.4 ตารางวาโจทก์ได้ปลูกต้นยางพารา ในที่ดินดังกล่าวไว้เต็มเนื้อที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2518 เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2527 จำเลยได้ตัดต้นยางพาราของโจทก์เพื่อปักเสาไฟฟ้าแรงสูงและเดินสายไฟฟ้าผ่านบนที่ดินของโจทก์ จำเลยได้เสนอชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นเงิน 40,805 บาท และค่าเสียหายเกี่ยวกับต้นยางพาราที่ได้ตัดทิ้ง จำนวน 261 ต้นเป็นเงิน 54,100 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 94,905 บาทโจทก์ไม่ตกลงรับค่าทดแทนความเสียหายที่จำเลยเสนอให้ โจทก์ขอคิดค่าทดแทนความเสียหายในราคาไร่ละ 200,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น582,000 บาท ค่าทดแทนเกี่ยวกับต้นยางพาราของโจทก์เป็นเงิน200,000 บาท รวมค่าทดแทนที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสิ้น782,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 782,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ที่ดินของโจทก์ที่ถูกจำเลยเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านมีต้นยางพาราจำนวน 211 ต้น คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินได้ประชุมกันและมีมติให้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณค่าทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์และราษฎรอื่น โดยกำหนดค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์เป็นเงิน 40,805 บาท ค่าทดแทนต้นยางพาราของโจทก์เป็นเงิน 51,850บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 92,655 บาท ค่าทดแทนที่ดินและต้นยางพาราที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์92,655 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 94,905 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ได้ก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงลงในที่ดินของโจทก์ และเดินสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 329 ตำบลเทพกระษัตรีอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 64.4 ตารางวาและได้ตัดต้นยางพาราพันธุ์ดีของโจทก์ในเนื้อที่ดังกล่าวเป็นจำนวน 211 ต้น จำเลยได้เสนอค่าทดแทนแก่โจทก์สำหรับการใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 40,805 บาท และค่าทดแทนต้นยางพาราของโจทก์เป็นเงิน 54,100 บาท รวมเป็นค่าทดแทนที่จำเลยเสนอจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 94,905 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมรับ โดยขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินเป็นเงิน 582,000 บาท และค่าทดแทนต้นยางพาราเป็นเงิน 200,000 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินและค่าทดแทนต้นยางพาราให้แก่โจทก์เพียงใด
ปัญหาค่าทดแทนการใช้ที่ดินนั้น โจทก์ขอให้ศาลฎีกานำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511มาตรา 28 วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2521 มาตรา 3 และขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวตามราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในท้องตลาดตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่467/2527 เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับขณะจำเลยจะต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ก็จริงอยู่ แต่พิจารณาถึงการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กับการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ที่ดินดังกล่าวแตกต่างกัน กล่าวคือ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้นฝ่ายเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ แต่การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ที่ดินนั้น ฝ่ายเจ้าของที่ดินมิได้เสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ เพียงแต่เสียสิทธิเกี่ยวกับการใช้ที่ดินดังกล่าวไปบ้าง จึงเป็นการเสียหายน้อยกว่ามาก การจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินย่อมต้องให้ต่ำกว่าการจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้เช่นเดียวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินตามราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในท้องตลาดตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 467/2527 มิได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์เป็นเงิน 40,805 บาท โดยจ่ายตามที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดไว้โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว นับว่าเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์จึงชอบแล้ว
ปัญหาค่าทดแทนต้นยางพารานั้น เห็นว่า นายวิชาญ จินะเสนาพยานโจทก์เบิกความว่า ต้นยางพาราของโจทก์ปลูกมานาน 5 ถึง 7 ปีเพิ่งกรีดยางได้เพียงปีเดียว นายนุกูล ตันติพงษ์ พยานจำเลยซึ่งเป็นนักวิชาการเกษตร 4 มีหน้าที่วิจัยยางพาราก็เบิกความว่าต้นยางพาราปลูกใหม่ประมาณ 6 ปี จะกรีดยางได้ จึงน่าเชื่อว่าต้นยางพาราปลูกแล้วประมาณ 6 ปี จะกรีดยางได้ ดังนั้นกรณีต้นยางพาราถูกตัดทิ้ง แล้วมีการปลูกใหม่ จึงเพียงประมาณ 6 ปีก็จะกรีดยางแทนต้นยางพาราเดิมที่ถูกตัดทิ้งได้ ความเสียหายเกี่ยวกับต้นยางถูกตัดทิ้งจึงมีระยะเวลาประมาณ 6 ปีเท่านั้น ที่โจทก์เรียกค่าทดแทนกรณีที่จำเลยตัดต้นยางพาราเป็นเหตุให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากต้นยางพาราดังกล่าวเกินกว่า 6 ปีจึงไม่ชอบ การกำหนดค่าทดแทนต้นยางพาราแก่โจทก์ จึงน่าจะกำหนดจากค่าใช้จ่ายในการปลูกต้นยางพารารวมกับรายได้ที่โจทก์ควรจะได้รับจากต้นยางพาราดังกล่าวมีระยะเวลา 6 ปี ดังที่ศูนย์วิจัยยางสงขลาได้ทำหลักการคำนวณค่าทดแทนต้นยางพาราไว้ตามเอกสารหมาย ล.10 โจทก์มิได้สืบแก้ว่าเอกสารหมาย ล.10 ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด จึงรับฟังตามเอกสารหมาย ล.10 ได้ว่าต้นยางพาราพันธุ์ดีขนาดอายุ 6 ปี ควรจ่ายค่าทดแทนเป็นเงิน 205.60 บาท ต่อ 1 ต้นเมื่อคำนวณตามหลักการดังกล่าวแล้วยังมีจำนวนเงินต่ำกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนที่จำเลยเสนอจ่ายให้แก่โจทก์เสียอีก ที่จำเลยเสนอจ่ายค่าทดแทนต้นยางพาราแก่โจทก์เป็นเงิน 54,100 บาท นับว่าพอสมควรและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว รวมเป็นค่าทดแทนที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 94,905 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ตามจำนวนเงินนี้ จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.