คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2364/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำเลย ใช้ที่ดินก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและเดินสายไฟฟ้าผ่านนั้น ฝ่ายเจ้าของที่ดินมิได้เสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ เพียงแต่เสียสิทธิเกี่ยวกับการใช้ที่ดินไปบ้าง เป็นการเสียหายน้อยกว่าการเวนคืนที่ดินมากการจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินย่อมต้องให้ต่ำกว่าการจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน จึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2511 มาตรา 28 มาใช้เช่นเดียวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดย ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินตามราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในท้องตลาดให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 329 จำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงและเดินสายไฟฟ้าผ่านที่ดินของโจทก์ คิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 64.4 ตารางวา โจทก์ได้ปลูกต้นยางพาราพันธุ์ จี.ที. 1 ในที่ดินดังกล่าวไว้เต็มเนื้อที่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2518 เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2527 จำเลยได้ตัดต้นยางพารา ของโจทก์เพื่อปักเสาไฟฟ้าแรงสูงและเดินสายไฟฟ้าผ่านบนที่ดินของโจทก์ จำเลยได้เสนอชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นเงิน 40,805 บาท และค่าเสียหายเกี่ยวกับต้นยางพารา ที่ได้ตัดทิ้ง จำนวน 261 ต้น เป็นเงิน54,100 บาท โจทก์ไม่ตกลง เพราะต่ำกว่าความเสียหายที่แท้จริงที่ดินของโจทก์ในขณะฟ้องราคาไร่ละ 450,000 บาท โจทก์ขอคิดค่าทดแทนความเสียหายในราคาไร่ละ 200,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 582,000 บาท หากต้นยางพารา ของโจทก์ไม่ถูกตัดทิ้งโจทก์สามารถกรีดยางได้อีกไม่น้อยกว่า 24 ปี โจทก์จะได้ผลประโยชน์จากการกรีดยางที่จำเลยตัดทิ้ง เป็นจำนวน 19,066.32กิโลกรัม ราคายางในตลาดซื้อขายกิโลกรัมละ 14 ถึง 15 บาทรวมเป็นเงินที่โจทก์จะได้รับจากต้นยางพารา ประมาณ 276,461 บาทโจทก์ขอคิดค่าทดแทนเกี่ยวกับต้นยางพาราของโจทก์เป็นเงิน200,000 บาท รวมค่าทดแทนที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสิ้น782,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 782,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า ค่าทดแทนที่ดินและต้นยางพาราที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์92,655 บาท โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 94,905 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ได้ก่อสร้างเสาไฟฟ้าแรงสูงลงในที่ดินของโจทก์และเดินเสาไฟฟ้าผ่านที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 329ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นเนื้อที่2 ไร่ 3 งาน 64.4 ตารางวา และได้ตัดต้นยางพาราพันธุ์ดีของโจทก์ในเนื้อที่ดังกล่าวเป็นจำนวน 211 ต้น จำเลยได้เสนอค่าทดแทนแก่โจทก์สำหรับการใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 40,805 บาทและค่าทดแทนต้นยางพาราของโจทก์เป็นเงิน 54,100 บาท รวมเป็นค่าทดแทนที่จำเลยเสนอจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 94,905 บาทแต่โจทก์ไม่ยอมรับโดย ขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินเป็นเงิน 582,000 บาท และค่าทดแทนต้นยางพาราเป็นเงิน200,000 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินและค่าทดแทนต้นยางพาราให้แก่โจทก์เพียงใด
ปัญหาค่าทดแทนการใช้ที่ดินนั้น โจทก์ขอให้ศาลฎีกานำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดย อนุโลมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511มาตรา 28 วรรคสาม ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 มาตรา 3และขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนดังกล่าวตามราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในท้องตลาดตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 467/2527 เห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับขณะจำเลยจะต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ก็จริงอยู่ แต่พิจารณาถึงการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์กับการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ที่ดินดังกล่าวแตกต่างกัน กล่าวคือ การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น ฝ่ายเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์แต่การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ที่ดินนั้น ฝ่ายเจ้าของที่ดินมิได้เสียไปซึ่งกรรมสิทธิ์ เพียงแต่เสียสิทธิเกี่ยวกับการใช้ที่ดินดังกล่าวไปบ้าง จึงเป็นการเสียหายน้อยกว่ามาก การจ่ายค่าทดแทนการใช้ที่ดินย่อมต้องให้ต่ำกว่าการจ่ายค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้เช่นเดียวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดย ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินตามราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในท้องตลาดตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 467/2527 มิได้”
พิพากษายืน

Share