คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2364/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างจะกำหนดขั้นตอนการลงโทษเป็นข้อ ๆ ตาม ลำดับว่า 1. ตักเตือนด้วย วาจา2. ตักเตือน เป็นลายลักษณ์อักษร 3. พักงานชั่วคราวโดย ไม่ได้รับค่าจ้าง 4. ตัด ค่าจ้าง 5. ปลดออก 6. ไล่ออก เว้นแต่กรณีความผิดร้ายแรง นายจ้างเลิกจ้างได้โดย ไม่ต้องลงโทษตาม ขั้นตอนก็ตามแต่ ก็ได้ กำหนดไว้ด้วย ว่า พนักงานซึ่ง ไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบวินัยและข้อบังคับอาจถูก ผู้บังคับบัญชาหรือฝ่ายบุคคลพิจารณาลงโทษได้ตาม ลักษณะความผิดเป็นกรณี ๆ ไป โดย ไม่จำเป็นต้อง เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ดัง นั้น เมื่อพนักงานกระทำความผิดในกรณีไม่ร้ายแรงแต่ เป็นการกระทำผิดซ้ำ คำตักเตือน นายจ้างก็มีอำนาจปลดออกหรือไล่ออกได้ หาจำต้องลงโทษตาม ขั้นตอนที่กำหนดไว้ไม่ ก่อนมีคำสั่งเลิกจ้าง จำเลยเคยมีหนังสือตักเตือน โจทก์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2532 ระบุว่า โจทก์หยุดงานโดย ไม่ลาและไม่มีเหตุอันควรในวันที่ 1,4,6 และ 8 กันยายน 2532 เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในเรื่องการหยุดงานโดย ไม่มีเหตุอันสมควรคำตักเตือนของจำเลยจึงเป็นการตักเตือน โจทก์เกี่ยวกับการหยุดงานโดย ไม่ลากิจ ล่วงหน้า หรือลาป่วยตาม ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่โจทก์ขาดงานในวันที่ 4,9,20,23,31มกราคม 2533 และวันที่ 1,3 กุมภาพันธ์ 2533 โดย ไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ยื่นใบลากิจ หรือลาป่วยเช่นเดียวกันอีก จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำ คำเตือน จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ โดย ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ขาดงานมาก ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน พร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างให้โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน หรือให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าและเงินสะสม พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้คดี
โจทก์แถลงว่าได้รับเงินสะสมไปแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมาย ล.2 กำหนดการลงโทษพนักงานเป็นขั้นตอน คือ 1. ตักเตือนด้วยวาจา 2. ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร3. พักงานชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 4. ตัดค่าจ้าง 5. ปลดออก6. ไล่ออก ทั้งนี้ เว้นแต่จะเป็นกรณีความผิดร้ายแรง จำเลยจึงจะเลิกจ้างโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนได้ ความผิดของโจทก์เป็นกรณีไม่ร้ายแรง โจทก์ถูกลงโทษตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรและพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างแล้วโทษขั้นตอนต่อไปคือตัดค่าจ้างการที่จำเลยลงโทษเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ถูกต้องตามขั้นตอน นอกจากนี้การที่โจทก์ไม่ได้ไปทำงาน โจทก์ได้ลางานแล้วแต่จำเลยไม่อนุญาตกรณีจึงไม่ใช่การขาดงานโดยไม่มีเหตุผล แม้อาจเป็นเรื่องการลาผิดระเบียบ จำเลยก็ไม่เคยตักเตือนโจทก์มาก่อน พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.2บทที่ 7 วินัย และมาตราการการลงโทษ ข้อ ค. ได้กำหนดขั้นตอนการลงโทษเป็นข้อ ๆ ตามลำดับตามที่โจทก์อุทธรณ์จริง แต่ในข้อ ค. วรรคแรกก็ได้กำหนดไว้ว่า พนักงานซึ่งไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัยและข้อบังคับ อาจถูกผู้บังคับบัญชาหรือฝ่ายบุคคลพิจารณาลงโทษได้ตามลักษณะความผิดเป็นกรณี ๆ ไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ดังนั้น เมื่อพนักงานกระทำความผิดในกรณีไม่ร้ายแรง แต่เป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยก็มีอำนาจลงโทษปลดออกหรือไล่ออกได้หาจำเป็นที่จะต้องลงโทษตามขั้นตอนตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ส่วนนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่ว่าการกระทำผิดของโจทก์เป็นการซ้ำคำเตือนหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่าการลากิจต้องยื่นใบลาล่วงหน้า 1 วัน และต้องได้รับอนุมัติก่อนจึงจะหยุดได้ ส่วนการลาป่วยต้องยื่นใบลาในวันแรกที่มาทำงานเมื่อวันที่ 4, 9, 20, 23, 31 มกราคม 2533 และวันที่ 1, 3กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์มิได้มาทำงานและมิได้ยื่นใบลากิจหรือลาป่วยโดยไม่มีเหตุจำเป็น การกระทำของโจทก์เป็นความผิดตามข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และเป็นกรณีซ้ำคำเตือนตามเอกสารหมาย ล.4 เห็นว่า จำเลยเคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2532 ตามเอกสารหมาย ล.4 ในคำเตือนดังกล่าวระบุการกระทำของโจทก์ว่าหยุดงานโดยไม่ลาและไม่มีเหตุอันควรในวันที่1 กันยายน, 4 กันยายน, 6 กันยายน และ 8 กันยายน 2532 เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยในเรื่องการหยุดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร คำตักเตือนของจำเลยจึงเป็นการตักเตือนโจทก์เกี่ยวกับการหยุดงานโดยไม่ลากิจล่วงหน้าหรือลาป่วยตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เป็นความผิดเกี่ยวกับการไม่ลาให้ถูกต้องและมีผลเป็นความผิดฐานขาดงานด้วย ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ขาดงานในวันที่ 4, 9,20, 23, 31 มกราคม 2533 และวันที่ 1, 3 กุมภาพันธ์ 2522 รวม 7 วันโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ยื่นใบลากิจหรือลาป่วยเช่นเดียวกันการกระทำผิดของโจทก์จึงเป็นการซ้ำคำเตือนตามเอกสารหมาย ล.4 จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
พิพากษายืน.

Share