คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5007/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาระบุลำดับการชำระหนี้ไว้โดยชัดแจ้งว่าต้องชำระเงินต้นก่อน เมื่อชำระเงินต้นครบถ้วนแล้วจึงจะชำระดอกเบี้ย ดังนั้นเงินที่ชำระหนี้จึงต้องนำไปหักจากต้นเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้ จะนำไปหักจากดอกเบี้ยที่ค้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 ไม่ได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่ได้ระบุลำดับการชำระหนี้กันไว้ ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตกลงคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 และ 18 ต่อปี เป็นการตกลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 911,968(1)ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายไม่ได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้ดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นก็เป็นผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ยินยอมเพื่อตอบแทนการที่โจทก์ยอมให้กู้อันเป็นที่มาแห่งมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน หาใช่เป็นการกู้ยืมเงินและเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทซึ่งมีรายการใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นตามมาตรา 900 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ในฐานะสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืม เงินในระหว่างอัตราร้อยละ 18.5 ถึง 19.5 ต่อปีตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ ดังนั้นที่มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทในอัตราร้อยละ 19.5 และ 18 ต่อปี จึงเป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้จนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดใช้เงินในฐานะผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 8 ฉบับ และฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3ให้ร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันอย่างจำกัดวงเงิน ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 8,123,410.97 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,500,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 6,823,650 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน4,300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ชำระเงิน 1,920,273.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า หนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ระงับหมดสิ้นแล้ว โจทก์คิดหักทอนบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริงโจทก์ต้องนำเงิน 550,000 บาท ไปหักชำระต้นเงิน ไม่ใช่หักชำระดอกเบี้ยตามที่เรียกร้องมาและโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี เพราะได้มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้โจทก์ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามฟ้อง จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามวงเงินที่ค้ำประกันโดยดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดคิดถึงวันฟ้องให้คิดในอัตราร้อยละ 18 และ 19.5ต่อปี แล้วแต่กรณีตามที่ระบุในตั๋วสัญญาใช้เงิน ส่วนดอกเบี้ยหลังวันฟ้องให้คิดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นฎีกาตามที่โจทก์ฎีกามีว่า โจทก์นำเงินที่นายประสิทธิ์ชำระหนี้พิพาทรวม 3ครั้ง ไปหักจากดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ก่อนโดยไม่นำไปหักจากต้นเงินเป็นการชอบหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยในในอัตราร้อยละ 19.5 และ 18 ต่อปี ของต้นเงินตามที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์ไปหลายครั้งรวมเป็นเงิน 5,500,000 บาท มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันและรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมโดยจำกัดวงเงิน ครั้นต่อมา จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทรวม 8 ฉบับ เป็นเงิน 5,500,000 บาท ชำระเงินกู้ดังกล่าวโดยตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 1 ถึงที่ 6 ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี และฉบับที่ 7 กับที่ 8 ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคม 2528นายประสิทธิ์ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหนี้จำเลยที่ 1 ที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทในวงเงิน 3,000,000 บาท กับอุปกรณ์แห่งหนี้ได้ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท เพราะถูกโจทก์ฟ้องและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ปรากฎตามสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมคดีของศาลแพ่งเอกสารหมาย ล.2 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2529 จำเลยที่ 1ชำระหนี้ให้โจทก์ 50,000 บาท โจทก์นำเงินจำนวนนี้ไปหักกับดอกเบี้ยที่ค้าง ครั้นต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2530 และวันที่ 17 กรกฎาคม 2530 นายประสิทธิ์ได้ชำระหนี้ให้โจทก์อีก 1,000,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ โจทก์นำเงินที่นายประสิทธิ์ชำระทั้ง 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,600,000บาท ไปหักกับดอกเบี้ยที่ค้างก่อนโดยมิได้นำไปหักจากต้นเงิน
สำหรับปัญหาแรกนั้น ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ล.2 มีความว่า นายประสิทธิ์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาแบ่งชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงินต้น 3,000,000บาท และดอกเบี้ย 397,148 บาท โดยแบ่งชำระเงินต้นเป็น6 งวด ๆ ละ 500,000 บาท งวดแรกชำระวันที่ 4 ธันวาคม 2528งวดสุดท้ายชำระวันที่ 2 กรกฎาคม 2529 ส่วนดอกเบี้ยแบ่งตามชำระเป็น 2 งวด โดยชำระต่อจากชำระเงินต้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ระบุลำดับการชำระหนี้ไว้โดยชัดแจ้งกล่าวคือต้องชำระเงินต้นก่อนเมื่อชำระเงินต้นครบถ้วนแล้ว จึงจะชำระดอกเบี้ย ดังนั้นเมื่อนายประสิทธิ์นำเงินมาชำระให้โจทก์รวม 3 ครั้งจึงต้องนำไปหักจากต้นเงินตามที่ได้ตกลงกันไว้ ไม่อาจนำไปหักจากดอกเบี้ยที่ค้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 329 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่ได้ระบุลำดับการชำระหนี้กันไว้ ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 และ 18 ต่อปี ของต้นเงินตามที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จหรือไม่ เห็นว่าแม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะกล่าวถึงมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงินแต่โจทก์ก็หาได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานกู้ยืมเงินโดยตรงไม่หากแต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดฐานเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่โจทก์กล่าวถึงเรื่องกู้ยืมเงินก็เป็นเพียงกล่าวถึงมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องเท่านั้น ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตกลงคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 และ 18 ต่อปี อันเป็นการตกลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 911, 968 (1)ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน การที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้ดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ก็เป็นผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ยินยอมเพื่อตอบแทนการที่โจทก์ยอมให้กู้ หาใช่เป็นการกู้ยืมเงินและเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทซึ่งมีรายการใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนพร้อมดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นตามมาตรา 900 แห่งกฎหมายดังกล่าว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้สูงเกินส่วน และลดอัตราดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องลงมาเหลือในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ความว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี เพราะโจทก์ต้องปฎิบัติ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุนฯ พ.ศ.2522ซึ่งต่อมาได้มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้โจทก์ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ตามคำให้การดังกล่าวเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิคิดได้ในขณะออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีอัตราถึงร้อยละ 19.5 ต่อปี และต่อมาได้มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ประกอบกับนายอวยชัย แสงอาวุธ พยานโจทก์เบิกความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อีกว่าการเรียกดอกเบี้ยของโจทก์ต้องอยู่ในความควบคุมและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งในปี 2529 ที่เบิกความเรียกได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 18.5ต่อปี ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าระหว่างปี 2526 ถึง 2529โจทก์ในฐานะสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงินในระหว่างอัตราร้อยละ 18.5 ถึงร้อยละ 19.5 ต่อปีดังนั้นที่มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทในอัตราร้อยละ 19.5 และ 18 ต่อปี จึงเป็นไปตามสิทธิที่โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวได้จนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในส่วนที่นับแต่วันฟ้องในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น จากนั้นศาลฎีกาวินิจฉัยในรายละเอียด เกี่ยวกับการคำนวณจำนวนเงินต้นและอัตราดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทที่จำเลยทั้งสามจะต้องรับผิด
ศาลฎีกาพิพากษาแก้โดยในส่วนดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิด ศาลฎีกาให้คิดในอัตราร้อยละ 18 และ 19.5 ต่อปี แล้วแต่กรณีตามที่ระบุในตั๋วสัญญาใช้เงินจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share