คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2364/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้กำหนดไว้ว่าพนักงานซึ่งไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัย และข้อบังคับอาจถูกผู้บังคับบัญชา หรือฝ่ายบุคคลพิจารณาลงโทษได้ตามลักษณะความผิดเป็นกรณี ๆ ไป ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้มาทำงานและมิได้ยื่นใบลากิจหรือลาป่วยโดยไม่มีเหตุจำเป็น จำเลยเคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ระบุการกระทำของโจทก์ว่าหยุดงานโดยไม่ลา และไม่มีเหตุอันควรเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัทจำเลยในเรื่องการหยุดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์ได้ขาดงานอีกรวม 7 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ยื่นใบลากิจ หรือลาป่วยเช่นเดียวกัน การกระทำผิดของโจทก์จึงเป็นการซ้ำคำเตือน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่อัตราค่าจ้างและสวัสดิการเหมือนเดิม พร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างให้โจทก์นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับกลับเข้าทำงาน หรือให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินสะสมรวม 13,332 บาทแก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการทำงาน เพราะหยุดงานโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้าตามระเบียบและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วโจทก์ยังทำผิดระเบียบดังกล่าวอีก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.2บทที่ 7 วินัย และมาตรการการลงโทษ ข้อ ค. ได้กำหนดขั้นตอนการลงโทษเป็นข้อ ๆ ตามลำดับตามที่โจทก์อุทธรณ์จริง แต่ใน ข้อ ค. วรรคแรกก็ได้กำหนดไว้ว่า พนักงานซึ่งไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัยและข้อบังคับอาจถูกผู้บังคับบัญชาหรือฝ่ายบุคคลพิจารณาลงโทษได้ตามลักษณะความผิดเป็นกรณี ๆ ไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามลำดับขั้นตอน ดังนั้นเมื่อพนักงานกระทำความผิดในกรณีไม่ร้ายแรงแต่เป็นการกระทำซ้ำคำเตือน จำเลยก็มีอำนาจลงโทษปลดออก หรือไล่ออกได้ หาจำเป็นที่จะต้องลงโทษตามขั้นตอนตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ส่วนนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่ว่าการกระทำผิดของโจทก์เป็นการซ้ำคำเตือนหรือไม่ ปัญหานี้สาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่าการลากิจต้องยื่นใบลาล่วงหน้า 1 วัน และต้องได้รับอนุมัติก่อน จึงจะหยุดได้ส่วนการลาป่วยต้องยื่นใบลาในวันแรกที่มาทำงาน เมื่อวันที่ 4, 9,20, 23, 31 มกราคม 2533 และวันที่ 1, 3 กุมภาพันธ์ 2533 โจทก์มิได้มาทำงานและมิได้ยื่นใบลากิจหรือลาป่วยโดยไม่มีเหตุจำเป็น การกระทำของโจทก์เป็นความผิดตามข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และเป็นกรณีซ้ำคำเตือนตามเอกสารหมาย ล.4 เห็นว่า จำเลยเคยมีหนังสือตักเตือนโจทก์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2532 ตามเอกสารหมาย ล.4 ในคำเตือนดังกล่าวระบุการกระทำของโจทก์ว่าหยุดงานโดยไม่ลาและไม่มีเหตุอันควรในวันที่ 1 กันยายน 4 กันยายน 6 กันยายนและ 8 กันยายน เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัทจำเลยในเรื่องการหยุดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร คำตักเตือนของจำเลยจึงเป็นการตักเตือนโจทก์เกี่ยวกับการหยุดงานโดยไม่ลากิจล่วงหน้าหรือลาป่วยตามระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เป็นความผิดเกี่ยวกับการไม่ลาให้ถูกต้องและมีผลเป็นความผิดฐานขาดงานด้วยข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ขาดงานในวันที่ 4, 9, 20, 23, 31 มกราคม 2533 และวันที่ 1, 3 กุมภาพันธ์2533 รวม 7 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ยื่นใบลากิจหรือลาป่วยเช่นเดียวกัน การกระทำผิดของโจทก์จึงเป็นการซ้ำคำเตือนตามเอกสารหมาย ล.4 จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า…”
พิพากษายืน.

Share