แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “ค่าจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 2(พ.ศ.2507) ให้คำวิเคราะห์ศัพท์ไว้หมายความถึงสินจ้างที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง ไม่ว่าสินจ้างนั้นจะเรียกชื่อ กำหนด คำนวณ หรือจ่ายอย่างไรก็ตาม แต่ไม่รวมค่าล่วงเวลา ค่าล่วงเวลาในวันหยุด โบนัส หรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่มีลักษณะเป็นการสงเคราะห์ลูกจ้าง
ขณะออกไปปฏิบัติงานต่างจังหวัด ลูกจ้างได้รับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 35 บาทจากนายจ้างเพิ่มจากค่าจ้างเดิมทุกวันที่ปฏิบัติงานวันที่ไม่มาทำงาน ไม่ว่าเพราะเหตุใด รวมทั้งวันหยุดงานประจำสัปดาห์และวันหยุดงานตามประเพณีนิยม นายจ้างไม่จ่ายให้ เงินที่นายจ้างจ่ายให้นี้ถือได้ว่าเป็นเงินค่าจ้างตามความหมายของคำวิเคราะห์ศัพท์ดังกล่าวแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด นายชีวินลูกจ้างโจทก์ได้รับเงินค่าจ้างจากโจทก์เป็นรายชั่วโมง และจะได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักจากโจทก์อีกต่างหาก ถ้าไปทำงานในต่างจังหวัดและพักค้างคืน ต่อมาลูกจ้างออกไปทำงานในต่างจังหวัดและพักค้างคืน และถึงแก่ความตายขณะทำงาน จำเลยที่ ๒ ได้วินิจฉัยว่าเงินเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักนั้นเป็นเงินค่าจ้างและนำมารวมกับเงินค่าจ้างรายชั่วโมงคำนวณเป็นเงินค่าทดแทนและค่าทำศพลูกจ้าง โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยนั้นไม่ถูกต้อง เพราะเงินเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์ในกรณีที่ลูกจ้างต้องจากที่อยู่ไปทำงานต่างจังหวัด จึงอุทธรณ์คำสั่งจำเลยที่ ๒ ต่อจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ยืนคำวินิจฉัย จึงขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เงินเบี้ยเลี้ยงตามฟ้องไม่มีลักษณะเป็นเงินสงเคราะห์ลูกจ้างการนำเงินนี้มารวมกับค่าจ้างปกติคำนวณค่าทดแทนและค่าทำศพลูกจ้างชอบด้วยกฎหมายแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายชีวินลูกจ้างโจทก์คดีนี้ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงในขณะออกไปปฏิบัติงานต่างจังหวัด จะได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงอีกวันละ ๓๕ บาททุกวันที่ปฏิบัติงาน ถ้าป่วยหยุดงานหรือขาดงานจะไม่ได้รับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงนี้ นายชีวินตายเพราะถูกไฟฟ้าดูดขณะออกไปปฏิบัติงานที่จังหวัดปทุมธานี
มีปัญหาว่า เงินค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ ๓๕ บาท เป็นเงินค่าจ้างซึ่งจะต้องนำมาคำนวณเงินค่าทดแทนและค่าทำศพนายชีวินด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๗)ให้คำวิเคราะห์ศัพท์ไว้ว่า ค่าจ้าง หมายความถึงสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง ไม่ว่าสินจ้างนั้นจะเรียกชื่อ กำหนด คำนวณ หรือจ่ายอย่างไรก็ตาม แต่ไม่รวมค่าล่วงเวลาค่าล่วงเวลาในวันหยุด โบนัส หรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่มีลักษณะเป็นการสงเคราะห์ลูกจ้าง” เงินค่าเบี้ยเลี้ยงที่โจทก์จ่ายให้แก่นายชีวินวันละ๓๕ บาท ในขณะที่ออกไปทำงานนอกเขตกรุงเทพมหานครตามคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่บริษัทโจทก์ต่อหน้าที่กรมแรงงานว่า โจทก์จะจ่ายให้เฉพาะวันที่นายชีวินมาทำงานวันที่ไม่มาทำงานไม่ว่าเพราะเหตุใดรวมทั้งวันหยุดงานประจำสัปดาห์และวันหยุดงานตามประเพณีนิยม โจทก์จะไม่จ่ายเงินเบี้ยเลี้ยง ๓๕ บาทให้แก่นายชีวิน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่นายชีวินเพิ่มขึ้นวันละ ๓๕ บาทในการออกไปปฏิบัติงานนอกเขตกรุงเทพมหานครเป็นเงินค่าจ้างตามความหมายของคำวิเคราะห์ศัพท์ที่กล่าวมาแล้ว ยิ่งกว่านั้น เงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงแก่นายชีวินยังแตกต่างจากค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าที่พักตามคำสั่งฝ่ายบริหารบริษัทโจทก์เพราะตามคำสั่งดังกล่าวโจทก์จะจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงในการไปปฏิบัติงานชั่วคราวที่ซึ่งมิใช่หน่วยงานประจำเป็นเวลาไม่เกิน ๑๕ วัน เว้นแต่จะระบุสั่งไว้เป็นพิเศษและอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับพนักงานรายชั่วโมง ค่าอาหารคืนละ ๒๐ บาทและนำใบรับค่าที่พักมาเรียกเก็บได้อีก รวมทั้งสิ้นไม่เกิน ๓๕ บาท สำหรับนายชีวินโจทก์จ่ายให้ ๓๕ บาทโดยไม่คำนึงว่าจะพักที่ไหน อย่างไร จึงถือไม่ได้ว่าเงินที่จ่ายให้นี้เป็นผลประโยชน์อย่างอื่นที่มีลักษณะเป็นการสงเคราะห์ลูกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๗)
พิพากษายืน