คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3059-3060/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่พิพาทจากจำเลยอ้างว่าเป็นมรดกของมารดาตกได้แก่โจทก์จำเลยร่วมกัน จำเลยให้การว่ามารดายกที่พิพาทให้จำเลยแต่ผู้เดียว จำเลยครอบครองเพื่อตนมากว่า 10 ปีแล้ว ที่พิพาทมิใช่มรดกอันจะตกไปยังโจทก์จำเลย เท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าที่พิพาทมิใช่มรดกของมารดา เมื่อปรากฏว่าที่พิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองอยู่. จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369,1372 ว่า มีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่าที่พิพาทเป็นมรดกของมารดา จึงมีหน้าที่นำสืบก่อนว่าที่พิพาทเป็นมรดก
ตามกฎหมายโจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน แต่ศาลชั้นต้นกลับกำหนดให้จำเลยนำสืบก่อน แม้จำเลยจะไม่คัดค้าน เมื่อไม่มีการสืบพยานศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไปทีเดียวไม่ได้ เพราะการที่ศาลจะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดีโดยถือหน้าที่นำสืบเป็นหลักนั้น ต้องถือตามหน้าที่นำสืบที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นบุตรของนายช่วงกับนางแดง แก้วชนะ ซึ่งวายชนม์ไปแล้ว โดยนางแดงได้วายชนม์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2513 นางแดงเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลงอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลพิจิตร อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีราคารวมทั้งสิ้นประมาณ 15,000 บาท อันตกได้แก่โจทก์และจำเลยคนละส่วนเท่ากัน ทายาทอื่นไม่ติดใจเกี่ยวข้องกับมรดกนี้ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2514 โจทก์ทั้งสองได้ขอให้จำเลยแบ่งมรดกแก่โจทก์ทั้งสองจำเลยอ้างว่าที่ดินทั้ง 3 แปลงนั้นเป็นของจำเลย ไม่ยอมแบ่ง จึงขอให้พิพากษาว่า ที่ดินทั้ง 3 แปลงเป็นมรดกของนางแดง แก้วชนะ ให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยให้มีส่วนในที่ดินทุกแปลงคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน หากไม่อาจแบ่งกันได้ ก็ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันคนละหนึ่งส่วน ให้จำเลยไปทำการลงชื่อร่วมในทะเบียนที่ดินทั้ง 3 แปลง ณ ที่ว่าการอำเภอ หากจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การว่า ที่พิพาททั้ง 3 แปลงมิได้เป็นของนางแดง แก้วชนะ เมื่อ 20 ปีมาแล้ว นางแดง แก้วชนะ แบ่งที่พิพาททั้ง 3 แปลงให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว โจทก์ทั้งสองและทายาทอีกคนหนึ่งก็ก็ได้รับส่วนแบ่งไปแล้ว จำเลยได้ครอบครองเพื่อตนมาเกินกว่า 10 ปี แล้ว เมื่อที่พิพาทมิได้เป็นของนางแดง แก้วชนะ จึงมิได้เป็นมรดกอันจะตกไปยังทายาท คือโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานโดยกำหนดให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อน จำเลยได้ขอเลื่อนคดีหลายครั้ง ในที่สุดศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและนัดสืบพยานโจทก์ต่อไป ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานโจทก์ แล้วพิพากษาว่าที่พิพาททั้ง 3 แปลงเป็นมรดกของนางแดง แก้วชนะ ให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกับทายาทอื่นคนละส่วนเท่ากันให้จำเลยไปทำการลงชื่อร่วมกับโจทก์ในทะเบียนที่ดินทั้ง 3 แปลง ณ ที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หากจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและอุทธรณ์คำพิพากษา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีแล้ว

จำเลยฎีกามา 2 ข้อ คือ (1) คำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยมีเหตุผล ขอให้กลับคำสั่งของศาลล่างทั้งสอง ให้สืบพยานจำเลยต่อไปและ (2) ศาลชั้นต้นกำหนดหน้าที่นำสืบไม่ถูกต้อง

ศาลฎีกาเห็นสมควรพิจารณาฎีกาข้อ 2 ก่อน

โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาททั้ง 3 แปลงเป็นมรดกของนางแดง แก้วชนะจำเลยให้การว่า ที่พิพาททั้ง 3 แปลงนั้น นางแดง แก้วชนะแบ่งให้จำเลยจำเลยครอบครองเพื่อตนมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จึงมิใช่เป็นมรดกอันจะตกไปยังทายาท คือ โจทก์ทั้งสอง เท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าที่พิพาทมิใช่มรดกของนางแดง แก้วชนะ แต่เป็นทรัพย์ของจำเลย แม้จำเลยจะกล่าวว่าที่พิพาทนั้นนางแดง แก้วชนะแบ่งให้จำเลย แต่ก็ได้กล่าวต่อไปว่าจำเลยได้ครอบครองเพื่อตนมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2514 ปรากฏว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่มี ส.ค. 1 อันแสดงว่าเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญที่อันเคยเรียกกันมาว่าที่ดินมือเปล่า ซึ่งผู้ครอบครองที่ดินจะมิได้เพียงสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367โจทก์ฟ้องให้แสดงว่าที่พิพาทเป็นมรดก เห็นได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองที่พิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 และมาตรา 1372 ที่บัญญัติว่า บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินไว้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นยึดถือเพื่อตน และสิทธิซึ่งผู้ครอบครองใช้ในทรัพย์สินที่ครอบครอง ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสิทธิที่มีตามกฎหมายโจทก์ผู้กล่าวอ้างว่าที่พิพาทเป็นมรดกของนางแดง แก้วชนะ จึงมีหน้าที่นำสืบก่อนว่าที่พิพาทเป็นมรดก เพราะจำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไปทีเดียวไม่ได้เพราะแม้จำเลยจะไม่คัดค้านเมื่อศาลกำหนดหน้าที่นำสืบ การที่จะพิพากษาให้ฝ่ายใดชนะคดีโดยถือหน้าที่นำสืบเป็นหลัก ก็ต้องถือตามหน้าที่นำสืบที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบก่อนและไม่มีการสืบพยาน ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไม่ได้ กรณีเช่นนี้ ถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและมีเหตุสมควรที่จะให้พิจารณาคดีใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 243 (2) เมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในเรื่องที่ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีเพราะไม่จำเป็นแก่คดีแล้ว

พร้อมกันพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ โดยกำหนดให้โจทก์เป็นฝ่ายนำสืบก่อน ค่าฤชาธรรมเนียมที่แล้วมาทั้ง 3 ศาล ให้ศาลชั้นต้นสั่งเมื่อพิพากษาใหม่

Share