แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี เป็นเงินที่ นายจ้าง ต้องจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติและเพื่อตอบแทนการทำงานในวันหยุดตามประเพณี ดังนี้ เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดตามประเพณี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องก็ต่อเมื่อจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์.
สิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นตกอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 แสดงว่าสิทธิเรียกร้องนี้ย่อมเกิดมีขึ้นต่อเมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว ดังนี้เมื่อจำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลยได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าล่วงเวลา ค่าเสียหาย ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและเงินประกันพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีเจตนาเลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ได้ขัดขืนไม่มาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานตามคำสั่งของจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาจำนวน 4,168 บาทค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 438 บาท ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีจำนวน 949 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปกับให้จำเลยจ่ายเงินประกันจำนวน 1,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 22 มกราคม2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า ประเด็นแห่งคดีซึ่งเป็นประเด็นหลักมีว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ ส่วนสิทธิที่โจทก์จะได้รับค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้มีการเลิกจ้างแล้วซึ่งไม่สามารถแยกประเด็นข้อพิพาทออกจากกันได้ จำเลยจึงไม่จำต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การอีก การที่ศาลแรงงานกลางไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในเรื่องค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี เป็นเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติและเพื่อตอบแทนการทำงานในวันหยุดตามปประเพณี ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดตามประเพณีจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือโจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยแล้ว กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องก็ต่อเมื่อจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้จึงต่างกับประเด็นข้อพิพาทในเรื่องการเลิกจ้างหาใช่เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องเป็นประเด็นเดียวกันดังข้ออุทธรณ์ของจำเลยไม่ เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธไว้โดยแจ้งชัดในคำให้การเกี่ยวกับเงินทั้งสองประเภทดังกล่าวจึงต้องถือว่าจำเลยได้ยอมรับตามคำฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ของจำเลยจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว ส่วนเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้โดยชัดแจ้งด้วยก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมตกอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45 ที่กำหนดว่า “ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ด้วย”แสดงว่าสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น ย่อมเกิดมีขึ้นต่อเมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว สำหรับคดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ที่โจทก์หยุดงานไปเป็นความเข้าใจผิดของโจทก์เอง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลยได้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง