คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นในคดีอาญาและคดีนี้เป็นประเด็นเดียวกันว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดในการที่จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2ผู้เอาประกันภัยเสียหาย โจทก์ที่ 1 จึงชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่โจทก์ที่ 2 มีอยู่ในมูลหนี้ต่อจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว โดยศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ก่อนที่โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51 วรรคสาม เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่มีอยู่ดังกล่าว สิทธิของโจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีอายุความ 10 ปี เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 อายุประกันภัย 1 ปี ระหว่างอายุสัญญา โจทก์ที่ 2ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยมีโจทก์ที่ 3 เป็นผู้โดยสาร จำเลยที่ 1ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างหรือตัวการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 แล่นสวนทางมาด้วยความเร็วสูงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถฝ่ายตรงข้ามพุ่งเข้าชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 8 ร-2130 กรุงเทพมหานคร และรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย และโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ได้ชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมรถยนต์แทนโจทก์ที่ 2ไปแล้วเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2535 เป็นเงิน 326,000 บาทคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 50,937 บาท รถยนต์ของโจทก์ที่ 2หลังจากซ่อมเสร็จแล้วเสื่อมสภาพ เสื่อมราคา โจทก์ที่ 2 ขอคิดค่าเสื่อมราคาเป็นเงิน 50,000 บาท โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ใช้รถยนต์ขณะซ่อมเป็นระยะเวลา 6 เดือน ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน40,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาท่อนล่างหักและแตกกระดูกไหปลาร้าหัก ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเป็นเงิน30,639 บาท และค่าจ้างพยาบาลทำกายภาพบำบัดที่บ้านเป็นเงิน10,000 บาท ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา ขอเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 10,000 บาท และไม่ได้ประกอบการงานในระหว่างรักษาพยาบาล ขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 10,000 บาท รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 150,639 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีถึงวันฟ้องเป็นเงิน 23,537 บาท โจทก์ที่ 3 ฟันกรามหัก สมองได้รับความกระทบกระเทือนต้องเสียค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลประมาณสามหมื่นบาทเศษ แต่ขอเรียกเพียง 17,541 บาท และป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา ขอเรียกค่าป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาจำนวน10,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,541 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 4,302 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างหรือตัวร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 376,937 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 174,176 บาทแก่โจทก์ที่ 2 และจำนวน 31,843 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 326,000 บาท 150,639 บาทและ 27,541 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับ
จำเลยทั้งสองให้การว่า คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม2535 ในวันที่ 15 มกราคม 2536 โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง ต่อมาในวันที่ 29 กันยายน 2536 ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีของโจทก์ทั้งสามออกจากสารบบความเพราะคดีไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจโจทก์ทั้งสามนำคดีนี้มาฟ้องเกินหนึ่งปีนับแต่วันเกิดเหตุละเมิด และเกิน 60 วัน นับแต่ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดี คดีโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1จำนวน 288,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 63,705 บาท และแก่โจทก์ที่ 3 จำนวน 27,541 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวสำหรับโจทก์ที่ 1 นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2535 สำหรับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2535 ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 จ-0815กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 2 ในวงเงินประกันภัย 400,000 บาทอายุประกันภัย 1 ปี นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2536 จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-3919 สงขลา เมื่อวันที 18 มกราคม 2535 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา โจทก์ที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน4 จ-0815 กรุงเทพมหานคร โดยมีโจทก์ที่ 3 เป็นผู้โดยสารไปตามถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าไปจังหวัดพัทลุง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน บ-3919 สงขลา แล่นสวนทางมา รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหายโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ไปแล้วพนักงานอัยการจังหวัดพัทลุงได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาความผิดฐานกระทำไปโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย ศาลจังหวัดพัทลุงวินิจฉัยว่าเหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คดีถึงที่สุดแล้วและข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า เหตุที่รถชนกันเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้กระทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า คดีของโจทก์ที่ 1 ที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 มีกำหนดอายุความ 10 ปี เพราะเหตุที่เกิดเป็นความผิดอาญาซึ่งมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าเมื่อโจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีวันที่ 29 กรกฎาคม 2537 คดีของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มูลเหตุคดีที่เกิดขึ้นเป็นกรณีเดียวกันกับที่พนักงานอัยการจังหวัดพัทลุงได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุทำให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสและเป็นเหตุทำให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 เสียหาย และศาลจังหวัดพัทลุงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริง พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 คดีถึงที่สุด ดังนั้น ประเด็นในคดีอาญาและคดีนี้จึงเป็นประเด็นเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดในการที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยเสียหาย โจทก์ที่ 1 จึงชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่โจทก์ที่ 2 มีอยู่ในมูลหนี้ต่อจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ดังนี้เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้วโดยศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ก่อนที่โจทก์ที่ 2 ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความในมาตรา 193/32 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51 วรรคสาม คือมีอายุความ 10 ปี ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่มีอยู่ดังกล่าว สิทธิของโจทก์ที่ 1 จึงย่อมมีอายุความ 10 ปี เช่นเดียวกัน เมื่อมูลละเมิดเกิดวันที่ 18 มกราคม 2535 และโจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 กรกฎาคม 2537 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1หรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิจารณาพิพากษาใหม่ โจทก์ที่ 1 เรียกค่าเสียหายมาสองส่วนคือค่าซ่อมรถยนต์และค่าขนส่งรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 จากจังหวัดพัทลุงไปซ่อมที่กรุงเทพมหานครพร้อมทั้งค่าดอกเบี้ย สำหรับค่าซ่อมรถยนต์โจทก์ที่ 1 เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 276,000 บาท เหมาะสมแล้ว ส่วนค่าขนส่งศาลฎีกาเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ชำระเงินค่าขนส่งจำนวน 12,000 บาท จริง ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ทั้งสิ้น 288,000 บาทเหมาะสมแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share