แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายอ้อย ข้อความในสัญญาข้อหนึ่งระบุว่าผู้ขายได้รับชำระราคาค่าอ้อยไปจากผู้ซื้อในวันทำสัญญา แต่อีกข้อหนึ่งระบุว่า เมื่อผู้ซื้อตัดอ้อยส่งโรงงานเรียบร้อยแล้วผู้ซื้อจะรีบนำเงินค่าอ้อยมาชำระแก่ผู้ขาย ดังนี้เป็นกรณีที่ข้อความในสัญญาระบุถึงเรื่องการชำระเงินค่าอ้อยไว้ขัดแย้งกัน ไม่อาจรับฟังให้ยุติไปในทางใดได้ คู่สัญญาต้องนำสืบให้เห็นว่า แท้จริงเรื่องนี้ได้ตกลงกันไว้อย่างไร การที่โจทก์นำสืบว่าในวันทำสัญญาซื้อขายอ้อยไม่มีการชำระเงินกันหลังจากทำสัญญาจำเลยตัดอ้อยส่งโรงงาน 3 ครั้ง จำเลยชำระราคาอ้อยเพียง 2 ครั้งครั้งสุดท้ายยังไม่ชำระ ดังนี้ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 แม้สัญญาซื้อขายหมาย จ.1 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์แต่ตามคำฟ้องและคำให้การจำเลยรับว่าได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามหมาย จ.1 จึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องใช้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้ออ้อยจากโจทก์จำนวน 50 ไร่ไร่ละ 5,000 บาท เป็นเงิน 250,000 บาท กำหนดชำระเงินค่าอ้อยปีละครั้งรวม 3 ครั้ง หลังจากจำเลยตัดอ้อยส่งเข้าโรงงานแล้ว ในปี พ.ศ.2525 และ พ.ศ. 2526 จำเลยได้ตัดอ้อยส่งโรงงาน แล้วได้ชำระเงินค่าอ้อยให้โจทก์ตามสัญญา 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 100,000 บาท ครั้งที่สามจำเลยได้ตัดอ้อยเมื่อเดือนมีนาคม 2527 และได้รับเงินค่าอ้อยจากโรงงานแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระเงินที่เหลืออีก 150,000 บาท ให้โจทก์โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 150,000บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอ้อยกับโจทก์ตามฟ้องจริง จำเลยได้ชำระเงินค่าอ้อยตามสัญญาจำนวน 250,000 บาท ให้โจทก์แล้วตั้งแต่วันทำสัญญา จึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระให้โจทก์อีก จำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์ว่าจะชำระเงินค่าอ้อยให้โจทก์ต่อเมื่อจำเลยตัดอ้อยส่งโรงงานแล้ว โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าอ้อยอีกไม่ได้เพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาแรกที่ว่าการสืบพยานของโจทก์เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารหรือไม่นั้น ตามคำฟ้องคำให้การฟังยุติว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายอ้อยกันปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งในเรื่องการชำระเงินค่าอ้อยที่ซื้อขายกันนั้นมีข้อความในสัญญาข้อ 1 ตอนท้ายว่า “และผู้ขายได้รับราคาดังกล่าวแล้วไปจากผู้ซื้อเสร็จแล้วแต่วันที่ 8 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525ในราคาไร่ละ 5,000 บาท รวมที่ 50 ไร่ เป็นเงินประมาณ 250,000 บาท”และมีข้อความในสัญญาข้อ 3 ว่า “ผู้ขายและผู้ซื้อทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันซื้ออ้อยสด ในราคาไร่ละ 5,000 บาท เมื่อตัดอ้อยส่งเข้าโรงงานแล้วผู้ซื้อจะต้องรีบนำเงินมาใช้ค่าอ้อยของผู้ขายในจำนวนที่ตกลงกันไว้” จะเห็นได้ว่าข้อความในสัญญาหมาย จ.1 ในเรื่องการชำระเงินค่าอ้อยนั้นระบุไว้เป็นการขัดแย้งกัน เมื่อข้อความในเอกสารไม่อาจจะรับฟังให้ยุติไปในทางใดได้เช่นนี้ กรณีจึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีต้องนำสืบให้เห็นว่า แท้จริงเรื่องนี้ได้ตกลงกันไว้อย่างไร ไม่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันจะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
สำหรับฎีกาประการสุดท้ายเรื่องสัญญาซื้อขายอ้อยเอกสารหมาย จ.1มิได้ปิดอากรแสตมป์ จะใช้เป็นพยานหรือหลักฐานในการฟ้องคดีได้หรือไม่นั้น คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การจำเลยรับว่าได้ทำสัญญาซื้อขายกันตามเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่กรณีที่จะต้องใช้เอกสารหมายจ.1 เป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น แม้สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 นั้นแม้จะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็ถือว่ามีหลักฐานเป็นหนังสือใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย…”
พิพากษายืน.