คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 และที่ 3 รุม ชก ต่อยผู้ตายในขณะเกิดเหตุชุลมุนระหว่างพวกจำเลยที่ 1 กับพวกผู้ตาย แล้วจำเลยที่ 1 หยิบมีดที่ตก อยู่ บนพื้นแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจคาดคะเนได้ล่วงหน้าว่าจำเลยที่ 1 จะใช้มีดแทงผู้ตาย ทั้งไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าผู้ตายจะถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย และการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ขัดขวางห้ามปรามจำเลยที่ 1 ก็มิใช่เป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาฆ่าผู้ตาย ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการฆ่าผู้ตายคงรับผิดเฉพาะ เป็นตัวการทำร้ายผู้ตายตามมาตรา 290 เท่านั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 และริบมีดปลายแหลมของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 288 จำคุกจำเลยคนละ 15 ปี จำเลยที่ 1ให้การว่าเป็นผู้ใช้มีปลายแหลมขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และที่ 3ให้การว่าร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างซึ่งเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือจำคุกคนละ 10 ปี ริบมีปลายแหลมของกลาง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก, 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 2และที่ 3 คนละ 3 ปี
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เหตุคดีนี้เกิดขึ้นโดยกระทันหัน เมื่อพวกจำเลยโห่ร้องนายหวิน นายหวินก็เอาขวดขว้างไปที่โต๊ะพวกจำเลยนายปรีชาเข้าห้ามไม่ให้มีเรื่องพวกจำเลยกับพวกผู้ตายก็ไม่ฟังจึงเกิดชุลมุนชกต่อยกันขึ้น จำเลยที่ 2 ที่ 3 เพียงแต่ชกต่อยผู้ตาย จำเลยที่ 1 พบมีดตกอยู่ก็หยิบมาแทงผู้ตายเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่อาจคาดคะเนได้ล่วงหน้าว่าจำเลยที่ 1 จะใช้มีดแทงผู้ตาย ทั้งไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าผู้ตายจะถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ในเมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 เองทำร้ายผู้ตายด้วยการชกต่อยเท่านั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3มีเจตนาฆ่าผู้ตายเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่ขัดขวางห้ามปรามจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 จะใช้มีดแทงผู้ตายนั้น มิได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีเจตนาฆ่าผู้ตายเพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ยุยงส่วนเสริมให้จำเลยที่ 1แทงผู้ตายแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ขให้ริบมีปลายแหลมของกลางด้วยนั้น ท้ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่กล่าวว่า “นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น” นั้นมีผลว่าศาลอุทธรณ์ก็ให้ริบมีดของกลางเช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น”
พิพากษายืน.

Share