แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินบำเหน็จเป็นผลประโยชน์นอกเหนือไปจากค่าชดเชย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจึงย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จได้ตามที่เห็นสมควร ดังนั้น ข้อบังคับของนายจ้างที่ให้หักค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จ จึงหาขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ แต่เมื่อข้อบังคับของนายจ้างมิได้กำหนดให้นายจ้างมีสิทธิหักดอกเบี้ยของค่าชดเชยไว้ด้วย นายจ้างจึงไม่มีสิทธิหักดอกเบี้ยของค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จ เมื่อไม่ปรากฏว่าลูกจ้างได้ทวงถามให้นายจ้างชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จแก่ลูกจ้างเมื่อใดจะถือว่านายจ้างผิดนัดแล้วหาได้ไม่ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้าง และค่าเสียหายอื่น ๆ แก่โจทก์จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์กระทำผิดจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินตามฟ้อง และฟ้องแย้งเรียกเงินบำเหน็จที่โจทก์ถอนไปก่อนออกจากงานศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยนับวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยมีสิทธิหักค่าชดเชยพร้อมทั้งดอกเบี้ยออกจากเงินบำเหน็จในวันชำระเงิน คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งจำเลยด้วย โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ตามอุทธรณ์ข้อ 2(2) เป็นใจความว่า จำเลยไม่มีสิทธินำเงินชดเชย (ค่าชดเชย) ไปหักเงินบำเหน็จที่จะต้องจ่ายให้โจทก์เพราะขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานและระเบียบข้อ 25 ค. 8 เป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ หากนำเงินชดเชยมาหักได้ก็ไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยเงินชดเชยซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์จะได้รับตามกฎหมายมาหักออกจากเงินบำเหน็จ นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามคู่มือระเบียบการทำงานและสวัสดิการพนักงานเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 25 ว่าด้วยแผนบำเหน็จรางวัลข้อ ข.1 การจ่ายผลประโยชน์ วรรคสาม กำหนดว่า “ทั้งนี้ถ้าพนักงานที่ออกจากงานเนื่องจาก ฯลฯ การเลิกจ้างได้รับผลประโยชน์จากแผนบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยการออกจากงาน หรือเงินชดเชยอื่น ๆตามที่กฎหมายกำหนดให้จ่าย บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยแต่เพียงอย่างเดียว”และ ข้อ ข.5 กำหนดว่า “นอกเสียจากบริษัทจะพิจารณาตัดสินเป็นอย่างอื่น ผลประโยชน์อันพึงได้รับตามแผนนี้จะต้องถูกหักด้วยเงินประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ ฯลฯ
5.4 เงินชดเชยการออกจากงานที่บริษัทจ่ายตามกฎหมาย” กับข้อ 65 ค.8 กำหนดว่า “บริษัทสงวนสิทธิในการที่จะนำเงินชดเชยที่ได้จ่ายไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลิกจ้าง และการเกษียณอายุซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นมาหักออกจากเงินผลประโยชน์สุดท้ายตามแผนนี้…….ฯลฯ…….” เช่นนี้เห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดสิทธิของจำเลยที่จะลดเงินบำเหน็จลงเท่าจำนวนค่าชดเชยที่จะได้รับโดยหักค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จได้ อีกทั้งการที่จำเลยออกข้อบังคับว่าด้วยแผนบำเหน็จรางวัล และการจ่ายผลประโยชน์ตามคู่มือระเบียบการทำงานและสวัสดิการฯ เอกสารหมาย จ.2 นั้นเป็นการให้ประโยชน์นอกเหนือไปจากค่าชดเชยซึ่งกฎหมายกำหนดให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเช่นนี้ จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จได้ตามที่เห็นสมควร ข้อบังคับดังกล่าวจึงหาขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานดังโจทก์อุทธรณ์ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยหักค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จในวันชำระเงินด้วยนั้น จึงชอบแล้วอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยของเงินชดเชยซึ่งเป็นสิทธิที่โจทก์จะได้รับตามกฎหมายมาหักออกจากเงินบำเหน็จนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามคู่มือระเบียบการทำงานและสวัสดิการพนักงาน ข้อ 25 ว่าด้วยแผนบำเหน็จรางวัล และการจ่ายผลประโยชน์ตามเอกสารหมาย จ.2 ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นหาได้กำหนดสิทธิของจำเลยที่จะหักดอกเบี้ยของค่าชดเชยไว้ในกรณีนี้ด้วยไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักดอกเบี้ยของค่าชดเชยไว้ ดังนั้นที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยหักดอกเบี้ยของค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จในวันชำระเงินด้วยนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ ตามอุทธรณ์ข้อ 2(3) เป็นใจความว่าศาลแรงงานกลางกำหนดวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จ ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นไม่ถูกต้องเพราะถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินดังกล่าวตั้งแต่วันเลิกจ้าง นั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จแก่โจทก์เมื่อใดจะถือว่าจำเลยผิดนัดแล้วหาได้ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้อง ดังนี้ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่กำหนดให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเงินบำเหน็จพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยหักเฉพาะจำนวนค่าชดเชยออกจากเงินบำเหน็จโดยไม่รวมถึงดอกเบี้ยของค่าชดเชยด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง