คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2353/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มีบัญชีทั้งหมด 3 เล่ม คือ บัญชีเงินสด บัญชีแยกประเภทและบัญชีรายรับทั่วไป เมื่อเจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไปเพื่อตรวจสอบ โจทก์คงส่งแต่เพียงบัญชีเงินสด เอกสารใบสำคัญคู่จ่ายสัญญารับเหมาก่อสร้าง สำเนาแบบเสียภาษีการค้าและสำเนาใบเสร็จรับเงินโดยไม่ยอมส่งบัญชีพร้อมทั้งหลักฐานและเอกสารประกอบการลงบัญชีอย่างอื่นให้เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบไต่สวนซึ่งไม่เพียงพอแก่การตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 4,890,578.33 บาท ภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาล จำนวน 665,813.26 บาท ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 จำเลยให้การว่า จำเลยออกหมายเรียกให้โจทก์นำส่งบัญชีพร้อมด้วยเอกสาร แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก และจงใจไม่ส่งบัญชีและเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานจำเป็นต้องใช้ในการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี 2522 ของโจทก์เจ้าพนักงานจึงจำเป็นต้องประเมินภาษีอากรของโจทก์ไปตาม มาตรา 71(1)แห่งประมวลรัษฎากร ให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5ของรายรับก่อนหักรายจ่ายซึ่งต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยลดภาษีส่วนหนึ่งให้คงเรียกเก็บเพียง 4,886,674.70 บาทและโจทก์ยื่นรายรับสำหรับภาษีการค้าขาดไป เจ้าพนักงานจึงประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้า อัตราร้อยละ 2 จากยอดรายรับที่ขาดและโจทก์มีรายรับจากการให้เช่าทรัพย์สินซึ่งต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ2.5 แต่โจทก์เสียภาษีไว้ในอัตราร้อยละ 2 รวมเป็นภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาล เบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 665,813.26 บาท ที่โจทก์อ้างว่าได้มีการหักภาษีเงินได้และภาษีการค้าของโจทก์ ณที่จ่ายนั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวน ตามมาตรา 71(1) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ได้ความจากนางอุทัยวรรณ ศุขโชติ ซึ่งเป็นพนักงานบัญชีของโจทก์ในขณะนั้นว่า บริษัทโจทก์มีบัญชีทั้งหมด 3 เล่ม คือบัญชีเงินสดบัญชีแยกประเภทและบัญชีรายรับทั่วไป แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้หมายเรียกให้โจทก์นำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีพร้อมทั้งหลักฐานและเอกสารประกอบการลงบัญชี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 ไปให้ตรวจสอบตามหมายเรียก เอกสารหมาย จ.12 นั้นนางอุทัยวรรณก็ยอมรับว่าโจทก์ไม่สามารถส่งเอกสารให้ตรวจสอบได้โดยอ้างว่าตู้เอกสารของโจทก์ถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ไว้ และมีการขอผัดผ่อนจนจำเลยต้องมีหนังสือเตือนโจทก์ นางอุทัยวรรณก็คงนำแต่เอกสารเฉพาะเท่าที่อ้างว่าหาได้ไปให้จำเลย ส่วนบัญชีเงินสดของปี 2522 โจทก์ว่าได้จัดทำรวมไว้เล่มเดียวกับบัญชีของปี 2521 แล้วต่อมาก็มีการเตือนให้นำเอกสารตามที่จำเลยต้องการไปส่งอีกนางอุทัยวรรณก็คงนำแต่เอกสารใบสำคัญคู่จ่ายไปมอบให้แก่นายอุทัยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของจำเลยรวมทั้งสัญญาการก่อสร้างที่โจทก์รับเหมาทำ สัญญารับเหมาช่วง สำเนาแบบเสียภาษีการค้าปี 2522 และสำเนาใบเสร็จรับเงิน แต่ก็ไม่มีเอกสารตามที่ทางจำเลยต้องการได้ความจากนางอุทัยวรรณต่อไปว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้เตือนมายังโจทก์ขอให้ส่งเอกสารตามที่จำเลยต้องการไปตรวจสอบอีก มีการขอเลื่อนการส่งเอกสารหลายครั้งหลายคราว ครั้งสุดท้ายนางอุทัยวรรณได้บอกกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยว่า จะนำเอกสารมาให้ในวันที่ 17ธันวาคม 2525 แต่แล้วนางอุทัยวรรณก็โทรศัพท์ขอเลื่อน มีการติดต่อทางโทรศัพท์อีกหลายครั้ง จนต่อมาเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้มีหนังสือนัดหมายให้นางอุทัยวรรณไปพบ นางอุทัยวรรณก็ขอเลื่อนอีกเป็นเช่นนี้จนจำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ และได้ความจากนางอมรา วิชยาภัย บุนนาค เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร 6พยานจำเลยว่า นางอุทัยวรรณคงนำแต่เอกสารบางอย่างมามอบให้แก่นายอุทัย เจ้าหน้าที่กองภาษีการค้าเท่านั้น ซึ่งเมื่อเรื่องโอนมายังกองตรวจภาษีอากร ซึ่งมีนางสาวเมทินี หอมไกล เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงแล้ว นางสาวเมทินีได้มีหนังสือไปให้โจทก์นำเอกสารมาให้ ทั้งมีการเรียกโจทก์มาพบหลายครั้ง แต่นางอุทัยวรรณก็ไม่ได้นำเอกสารใด ๆ มาให้นางสาวเมทินีเลยข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้แน่ชัดว่าโจทก์ไม่ได้นำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีพร้อมทั้งหลักฐานและเอกสารประกอบการลงบัญชีตามที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยต้องการตรวจสอบ แม้โจทก์จะได้นำบัญชีเงินสดของปี 2522 มอบให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยไว้แล้ว ก็หาเป็นการเพียงพอต่อการตรวจสอบไม่ เพราะบัญชีที่โจทก์จัดทำนอกจากบัญชีเงินสด ตลอดจนเอกสารประกอบการลงบัญชีของโจทก์ โจทก์ก็ไม่ได้จัดการส่งให้แก่จำเลยให้เพียงพอแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ดังจำเลยฎีกาที่ศาลอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์ส่งเพียงบัญชีเงินสดให้จำเลยตรวจสอบย่อมเพียงพอแล้วจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และเห็นว่าการที่โจทก์ไม่นำเอกสารหรือหลักฐานอื่นมาให้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการตรวจสอบไต่สวนเช่นนี้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงย่อมมีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 71(1)แห่งประมวลรัษฎากรได้การแจ้งการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า โจทก์ได้เสียภาษีการค้าไว้ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ สำหรับภาษีการค้าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 ของโจทก์นั้น จำเลยอ้างว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการโดยแสดงรายรับไว้เพียง 99,038,194 บาท ซึ่งเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจพบว่า โจทก์แสดงรายการรายรับจากค่ารับเหมาก่อสร้างไว้ไม่ตรงกับงบดุลของโจทก์ ที่ถูกโจทก์จะต้องมีรายรับในส่วนนี้111,482,512.56 บาทและรายรับในยอด 132,294 บาท เป็นรายรับจากการให้เช่าทรัพย์สินซึ่งโจทก์เสียภาษีการค้าไว้เพียงร้อยละ 2ไม่ถูกต้อง ที่ถูกโจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าในส่วนนี้ร้อยละ 2.5ในปัญหาแรกโจทก์คงฟ้องอ้างเพียงว่า รายได้หรือรายรับของโจทก์จากการรับเหมาก่อสร้างประจำปี 2522 เป็นจำนวนเงิน111,482,512.56 บาท ตรงตามที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการประเมิน คงอ้างแต่เพียงว่าได้มีการหักภาษีการค้า ณ ที่จ่ายไว้แล้วเท่านั้น ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์มีรายรับในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 จำนวนเท่าใด จึงไม่เป็นประเด็นโต้เถียงกัน ดังนั้นฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ในส่วนรายรับในยอดค่าเช่าทรัพย์สิน 132,294 บาท ทั้งในส่วนที่โจทก์ลงรายการไว้แล้วและขาดไปนั้น ได้ความจากนายปัญญา ภูเขียว กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์และนางอุทัยวรรณ พนักงานบัญชีของโจทก์ว่า ตามเอกสารใบเสร็จหมาย จ.4 และ จ.5 ที่ระบุว่าโจทก์ได้รับเงินค่าเช่ารถแทรกเตอร์และค่าสำรวจจากบริษัทยูเนี่ยนออย จำกัด เป็นเงิน 78,000 บาท และ54,294 บาทตามลำดับนั้น แท้จริงเป็นรายได้ที่เกิดจากการรับเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับบริษัทยูเนี่ยนออย จำกัด นอกจากจะเป็นคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนแล้ว ยังปรากฏว่าโจทก์มิได้กล่าวอ้างเหตุผลอันนี้ไว้ในชั้นเจ้าพนักงานประเมิน และในชั้นอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงขาดเหตุผลที่จะรับฟัง น่าเชื่อว่าเป็นรายรับจากการให้เช่าทรัพย์สินดังที่นางอมรา วิชยาภัย บุนนาค พยานจำเลยเบิกความมากกว่า ดังนั้นที่เจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าในส่วนนี้เป็นร้อยละ2.5 ของรายรับตามประเภทการค้า 5 การให้เช่าทรัพย์สินแห่งบัญชีอัตราภาษีการค้า จึงชอบแล้ว และการแจ้งการประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลของจำเลยนั้น ได้ความตามคำเบิกความของนางอมราว่า เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้หักเครดิตภาษีส่วนที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้ว โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำนวนเงินภาษีในส่วนนี้ที่โจทก์ชำระไว้แล้วนำมาหักไม่ถูกต้องครบถ้วนอย่างไร แม้แต่ในคำแก้ฎีกาของโจทก์ก็ไม่สามารถแสดงรายละเอียดได้เช่นกันจึงไม่มีเหตุที่จะยกเลิกหรือเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share