คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2353/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่มิใช่เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ราษฎรย่อมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับกุมผู้กระทำความผิด ดังนั้น การที่ ข.กับผู้ตายซึ่งเป็นเพียงราษฎรจะเข้าจับกุมจำเลยภายหลังเกิดเหตุจำเลยทำร้ายผู้อื่นแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันเพื่อให้พ้นจากการที่จะต้องถูกจับได้ แต่การที่จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตายที่หน้าอกส่วนล่างใต้นมเหนือชายโครงซ้าย และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนเกิดเหตุนั้นเอง แสดงว่าจำเลยแทงโดยแรง และเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยเลือกแทงที่อวัยวะสำคัญ โดยไม่ปรากฏว่า ช.กับผู้ตายมีอาวุธหรือแสดงอาการในลักษณะที่จะทำร้ายจำเลยนอกเหนือจากการกระทำเพื่อจับกุมจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพกพาเหล็กขูดชาฟท์ไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และใช้เหล็กขูดชาฟท์นั้นแทงนางสาวพิศมัยถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๓๗๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ และผิดฐานพกพาอาวุธตามมาตรา ๓๗๑ อีกกระทงหนึ่งลงโทษจำคุก ๑๘ ปี ปรับ ๘๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทำร้ายผู้ตายเป็นการป้องกันตัวแต่การกระทำของจำเลยเกินสมควรแก่เหตุ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๙ จำคุก ๑๐ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเดียวกับวันเกิดเหตุ แต่เป็นเวลาก่อนเกิดเหตุ จำเลยได้ใช้ท่อนเหล็กตีศีรษะของนายโฮมแตกโลหิตไหล และได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจไว้แล้ว ต่อมานายชาติและนางสาวพิศมัยผู้ตายเห็นจำเลยเดินผ่านมาก็จะเข้าจับกุมจำเลย จำเลยชักเหล็กขูดชาฟท์ออกมาจากเอวแทงนายชาติ แต่นายชาติหลบเสียทัน ผู้ตายได้ผ่านหลังนายชาติเพื่อจะเข้าไปล็อกคอจำเลย จึงถูกจำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงที่ราวนมด้านซ้าย ๑ ที ผู้ตายถึงแก่ความตายในวันเกิดเหตุนั้นเอง ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุคดีนี้นายชาติและผู้ตายมีเจตนาเพียงจะเข้าไปจับกุมจำเลยในกรณีที่จำเลยได้ใช้ท่อนเหล็กตีทำร้ายนายโฮมพวกของนายชาติเท่านั้น แต่การกระทำของจำเลยในกรณีทำร้ายนายโฮมนั้น มิใช่เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า นายชาติและผู้ตายเป็นเพียงราษฎรย่อมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับกุมจำเลยได้โดยลำพัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๙ เมื่อนายชาติและผู้ตายจะเข้าจับกุมจำเลยซึ่งไม่มีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันเพื่อให้พ้นที่จะต้องถูกจับได้ แต่การที่จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตายถูกที่หน้าอกซ้ายส่วนล่างใต้นมเหนือชายโครงถึงแก่ความตายในคืนเกิดเหตุนั้นเอง แสดงว่าจำเลยแทงโดยแรงและตำแหน่งบาดแผลคือที่หน้าอกใกล้ราวนม ซึ่งเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยเลือกแทงถูกที่อวัยวะสำคัญ โดยไม่ปรากฏว่านายชาติและผู้ตายมีอาวุธหรือแสดงอาการในลักษณะที่จะทำร้ายจำเลยนอกเหนือจากการกระทำเพื่อจับกุมจำเลยนั้น การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
พิพากษายืน.

Share