คำวินิจฉัยที่ 3/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ถือหุ้นฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ โดยอาศัยมติที่ประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้มีหนังสือมอบฉันทะให้บุคคลเข้าประชุมโดยไม่มีอำนาจ การรับจดทะเบียนและออกหนังสือรับรองเปลี่ยนแปลงกรรมการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุม และผลประโยชน์อื่นๆ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ ให้เรียกคืนเงินค่าเบี้ยประชุม และประโยชน์อื่นใดที่จ่ายไป และเพิกถอนหนังสือมอบฉันทะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า การจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีมีคำสั่งรับจดทะเบียนและออกหนังสือรับรองเปลี่ยนแปลงกรรมการตามคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำขอจดทะเบียนและออกหนังสือรับรองเปลี่ยนแปลงกรรมการโดยอาศัยมติที่ประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นข้อพิพาทจึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้นและมติที่ประชุมดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการในฐานะบริษัทมหาชนจำกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลในทางแพ่ง แม้คดีนี้จะมีประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การมอบฉันทะให้บุคคลเข้าประชุมในฐานะผู้แทนกระทรวงการคลังของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อโต้แย้งสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนข้อพิพาทดังกล่าวเท่านั้น ทั้งตามคำฟ้อง ก็มิได้กล่าวอ้างถึงการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรับจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ประกอบกับเมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีก็เป็นไปเพื่อให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมซึ่งจะมีผลทำให้มีการเพิกถอนการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการเป็นสำคัญ เมื่อการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนตามกฎหมายในการรับรองสิทธิของนิติบุคคลในทางแพ่ง จึงเป็นข้อพิพาทในทางแพ่ง มิใช่เป็นเรื่องทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคดีอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๕๗

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ นายประมุท สูตะบุตร ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ที่ ๒ นายนัที เปรมรัศมี ที่ ๓ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่ ๔ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำ ที่ ๑๖๓๘/๒๕๕๔ ความว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ โดยอ้างมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ มติที่ประชุมคณะกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ครั้งที่ ๑๓/๒๕๕๒ มติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ รับจดทะเบียนและออกหนังสือรับรองเปลี่ยนแปลงกรรมการดังกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้มีหนังสือมอบฉันทะให้บุคคลเข้าประชุมในฐานะผู้แทนกระทรวงการคลัง โดยไม่มีอำนาจและขัดหรือแย้งกับคำสั่งกระทรวงการคลังและกฎหมายทำให้หนังสือมอบฉันทะดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงต้องถือว่ากระทรวงการคลังซึ่งมีสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ร้อยละ ๖๕.๘๐ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย การประชุมดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประชุม ทำให้มติของที่ประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ รับจดทะเบียนและออกหนังสือรับรองเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยอาศัยมติที่ประชุมดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลตามกฎหมายด้วย นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมติที่ประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่มีผู้ใดเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงถือว่าไม่เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุม ค่าโบนัส ค่าตอบแทน และผลประโยชน์อื่นๆ ให้แก่กรรมการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำขอจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่อ้างมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพิกถอนการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมติของที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรียกคืนเงินค่าเบี้ยประชุม ค่าโบนัสกรรมการ ค่าตอบแทนและประโยชน์อื่นใดที่จ่ายไปแก่ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโดยการขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นลาภมิควรได้คืนจากบุคคลดังกล่าว และเพิกถอนหนังสือมอบฉันทะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่ให้บุคคลอื่นเข้าประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ เข้าประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และ พ.ศ. ๒๕๕๔ แทนกระทรวงการคลังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ ให้การว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. ๒๕๓๔ มิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามเรื่องการมอบอำนาจไว้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มอบฉันทะชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แล้ว การประชุมได้ครบองค์ประชุมแล้ว มติที่ประชุมจึงชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ จึงชอบด้วยกฎหมายด้วย และบุคคลซึ่งไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่เข้าลักษณะต้องห้ามที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๑๘ นอกจากนั้นตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ก็มิได้มีบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นกรรมการว่าจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทซึ่งตนเป็นกรรมการเช่นกัน ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมติที่ประชุมจึงมีคุณสมบัติเป็นกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ให้การว่า การยื่นคำขอจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท การรับจดทะเบียนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งกรรมการในการประชุมผู้ถือหุ้นและการนำมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปแจ้งจดทะเบียน อันเป็นการดำเนินการตามภารกิจอื่นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการดำเนินการในฐานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดทั่วไปเท่านั้น คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คำฟ้องตามคดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์ให้ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสำคัญ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงมีประเด็นหลักว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ที่รับจดทะเบียนและออกหนังสือรับรองเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยมีประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาก่อนว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหนังสือมอบฉันทะให้ข้าราชการในสังกัดเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และออกเสียงลงคะแนนในวาระการพิจารณาเลือกตั้งกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขัดกับคำสั่งกระทรวงการคลังที่ ๖๐/๒๕๕๒ และชอบด้วยมาตรา ๓๘ และมาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ หรือไม่ ส่วนประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี ๒๕๕๓ และประจำปี ๒๕๕๔ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ และข้อ ๒๖ ของข้อบังคับของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งกรรมการในการประชุมผู้ถือหุ้นและการนำมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปแจ้งจดทะเบียนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นประเด็นรองที่เกี่ยวพันกับประเด็นหลัก คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องสืบเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเกิดจากการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับความเสียหาย เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจการค้า ขณะเกิดเหตุมีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือหุ้น โดยอ้างมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ มติของที่ประชุมคณะกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ครั้งที่ ๑๓/๒๕๕๒ มติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงใดๆ ตามมติที่ประชุมดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยนั้น การจะวินิจฉัยคดีนี้จึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า การประชุมและมติที่ประชุมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทหรือไม่ แล้วจึงพิจารณาเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าเพื่อแสวงหากำไรและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก การก่อตั้งการดำเนินกิจการ ตลอดจนการเลิกกิจการของนิติบุคคลต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และต้องมีการจดทะเบียน หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็ต้องนำความไปแจ้งต่อนายทะเบียนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการรับรองสิทธิว่านิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลตามกฎหมาย มีความสามารถที่จะทำนิติกรรมได้และเพื่อเปิดเผยให้บุคคลภายนอกให้รับรู้ถึงสถานะ อำนาจหน้าที่ของกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นๆ ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายดังกล่าวเป็นไปเพื่อรับรองสิทธิของนิติบุคคลในทางแพ่งเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องทางปกครอง สถานภาพของผู้ถูกฟ้องคดีจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่จึงต้องเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหลัก ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่ง มิใช่อยู่ที่การรับจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ เมื่อจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งเป็นสำคัญแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นฟ้อง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ ๑ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต่ออธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ โดยอาศัยมติที่ประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ได้มีหนังสือมอบฉันทะให้บุคคลเข้าประชุมในฐานะผู้แทนกระทรวงการคลังโดยไม่มีอำนาจและขัดหรือแย้งกับคำสั่งกระทรวงการคลังและกฎหมาย การรับจดทะเบียนและออกหนังสือรับรองเปลี่ยนแปลงกรรมการโดยอาศัยมติที่ประชุมดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมติที่ประชุมดังกล่าวไม่มีผู้ใดเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุม ค่าโบนัส ค่าตอบแทน และผลประโยชน์อื่นๆ ให้แก่กรรมการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำขอจดทะเบียนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่อ้างมติที่ประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพิกถอนการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรียกคืนเงินค่าเบี้ยประชุม ค่าโบนัสกรรมการ ค่าตอบแทนและประโยชน์อื่นใดที่จ่ายไปแก่ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเพิกถอนหนังสือมอบฉันทะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่ให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนกระทรวงการคลังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ ให้การว่า การมอบฉันทะชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แล้ว มติที่ประชุมจึงชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนจึงชอบด้วยกฎหมายด้วย และผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามมติที่ประชุมมีคุณสมบัติเป็นกรรมการโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ให้การว่า การรับจดทะเบียนและการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีมีคำสั่งรับจดทะเบียนและออกหนังสือรับรองเปลี่ยนแปลงกรรมการตามคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำขอจดทะเบียนและออกหนังสือรับรองเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยอาศัยมติที่ประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประเด็นข้อพิพาทในคดี จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้นและมติที่ประชุมดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการในฐานะบริษัทมหาชนจำกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลในทางแพ่ง แม้คดีนี้จะมีประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การมอบฉันทะให้บุคคลเข้าประชุมในฐานะผู้แทนกระทรวงการคลังของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงข้อโต้แย้งสิทธิที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนข้อพิพาทดังกล่าวเท่านั้น ทั้งตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีก็มิได้กล่าวอ้างถึงการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในการรับจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบอย่างไร ประกอบกับเมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี ก็เป็นไปเพื่อให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมซึ่งจะมีผลทำให้มีการเพิกถอนการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการตามคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นสำคัญ เมื่อการรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนตามกฎหมายในการรับรองสิทธิของนิติบุคคลในทางแพ่ง จึงเป็นข้อพิพาทในทางแพ่ง มิใช่เป็นเรื่องทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายประมุท สูตะบุตร ผู้ฟ้องคดี บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ นายสุรพล นิติไกรพจน์ ที่ ๒ นายนัที เปรมรัศมี ที่ ๓ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่ ๔ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share