แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในกรณีที่มีการเลิกจ้างโดยการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้นนอกจากค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 แล้ว ลูกจ้างมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ76 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ มีอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41(4) ที่จะกำหนดค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้าง.ในกรณีนายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรมเป็นอีกส่วนหนึ่ง นอกเหนือจากค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว
การเลิกจ้างในกรณีที่สัญญาจ้างมิได้กำหนดว่าจ้างนานเท่าใดจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 เมื่อนายจ้างมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างจะต้องรับผิดในจำนวนค่าเสียหายดังกล่าวนี้ซึ่งเป็นคนละส่วนกับค่าชดเชยด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เลิกจ้างนายเอกชัยและนายสมมิตรลูกจ้างโจทก์เพราะฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์อย่างร้ายแรงนายเอกชัยและนายสมมิตรได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นกรรมการกล่าวหาว่าโจทก์ให้ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่โจทก์เลิกจ้างคนทั้งสองไม่เป็นธรรม สั่งให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่นายเอกชัย 30,000 บาท แก่นายสมมิตร 26,400 บาท โดยไม่ชอบด้วยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 23/2521 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2521
จำเลยทุกคนให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 23/2521 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2521 ชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่เรื่องค่าเสียหายให้แก้เป็นว่าให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายให้นายสมมิตร15,840 บาท นายเอกชัย 18,000 บาท
โจทก์และจำเลยทุกคนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ฎีกา (จำเลยที่ 9 ถึงแก่ความตาย)
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วฟังว่า โจทก์เลิกจ้างนายเอกชัยและนายสมมิตรโดยไม่เป็นธรรม
วินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายว่า เกี่ยวด้วยเรื่องค่าเสียหายศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างนั้นตามกฎหมายแรงงานกำหนดให้โจทก์จ่ายเฉพาะค่าชดเชยเท่านั้น จึงให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้นายเอกชัย 18,000บาท นายสมมิตร 15,840 บาท ศาลฎีกาเห็นว่านอกจากค่าชดเชยที่โจทก์จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดตามข้อ 47 แล้ว ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 76 กำหนดไว้ว่า “การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามประกาศนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามประกาศนี้พึงได้ตามกฎหมายอื่น” ซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ดังกล่าวนี้ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41(4) ให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กำหนดค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้าง ในกรณีนายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างอีกส่วนหนึ่งด้วย ต่างกับค่าชดเชยซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่เป็นการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยแต่อย่างใด และค่าเสียหายที่ว่านี้เป็นค่าเสียหายระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยบุคคลทั้งสองหยุดงานไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยออกคำสั่ง และในกรณีที่สัญญาจ้างมิได้กำหนดว่าจ้างนานเท่าใด การเลิกจ้างก็ชอบที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 โจทก์มิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับค่าชดเชย ฉะนั้น คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้อีกคนละ 4 เดือน รวม 10 เดือน ให้นายเอกชัย 30,000 บาท ให้นายสมมิตร 26,400 บาทชอบแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองให้จ่ายเฉพาะค่าชดเชยไม่รวมค่าเสียหายอื่นด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า คำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 23/2521 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2521 ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกฟ้องโจทก์