คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2352/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่งจึงต้องนำบทบัญญัติลักษณะเช่าทรัพย์มาใช้บังคับด้วยเมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายสัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตั้งแต่วันที่รถยนต์สูญหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 567 ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระอยู่ตั้งแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปหาได้ไม่ แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะกำหนดให้ผู้เช่าซื้อรับผิดชำระค่าเช่าซื้อจนครบในกรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกโจรภัยหรือสูญหายก็ตาม แต่การที่ผู้เช่าซื้อตกลงไว้เช่นนั้น ถือได้ว่าผู้เช่าซื้อได้ตกลงที่จะชำระค่าเสียหายให้ผู้เช่าซื้อในกรณีนี้ไว้ด้วย ผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดแต่ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2530 จำเลยที่ 1ได้เช่าซื้อรถยนต์กระบะดีเซลของโจทก์ไป 1 คัน ในราคาเช่าซื้อเป็นเงิน 269,770 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาเป็นเงิน 45,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงว่าจะชำระให้โจทก์เป็นรายเดือนรวม 36 งวด งวดละ 6,245 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 31มกราคม 2530 จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครลาดพร้าวว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2530 ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 5 กำหนดว่าเมื่อทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยหรือสูญหาย จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์จนครบ เงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่ในขณะนั้นเป็นเงิน 224,770 บาท โจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนสำหรับรถยนต์ที่เช่าซื้อจากบริษัทจรัญประกันภัยจำกัด แล้ว 160,000 บาท ยังคงเหลือค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1ต้องชำระอีก 64,770 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน64,770 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หลังจากวันทำสัญญาเช่าซื้อเพียง 3 วัน คือเมื่อวันที่ 31 มกราคม2530 รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป จำเลยที่ 1ได้แจ้งความไว้แล้ว ต่อมาโจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทจรัญประกันภัย จำกัด เป็นเงิน 160,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระในวันทำสัญญาเป็นเงิน 45,000 บาทแล้วรวมเป็นเงิน 205,000 บาท เท่ากับราคาที่แท้จริงของรถยนต์ที่เช่าซื้อ ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหายอีก สัญญาเช่าซื้อระงับลงตั้งแต่วันที่คนร้ายลักรถยนต์ที่เช่าซื้อไป โจทก์จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลืออยู่ทั้งหมดไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 64,770 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์เป็นเงิน 269,770 บาทดังปรากฏตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังปรากฏตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2530 เป็นเงิน 45,000 บาทหลังจากวันทำสัญญาเช่าซื้อเพียง 3 วัน มีคนร้ายลักรถยนต์ที่เช่าซื้อไป ต่อมาบริษัทจรัญประกันภัย จำกัด ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวได้จากจำเลยที่ 1 โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 160,000 บาทรวมเป็นเงินที่โจทก์ได้รับแล้วทั้งสิ้น 205,000 บาท
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่อีก 64,770 บาท เสมือนราคาซื้อขายที่ค้างชำระนั้นศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่งจึงต้องนำบทบัญญัติลักษณะเช่าทรัพย์มาใช้บังคับด้วย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตั้งแต่วันที่รถยนต์สูญหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 567โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่ยังค้างชำระอยู่ตั้งแต่วันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปหาได้ไม่ คดีนี้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2530 เวลา 9.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไปในวันที่แจ้งความนั้นเอง เวลาประมาณ0.30 นาฬิกา ดังปรากฏตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.6 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2530 เป็นต้นไป แม้ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5 จะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรับผิดชำระค่าเช่าซื้อจนครบในกรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกโจรภัยหรือสูญหายก็ตาม อย่างไรก็ดี การที่จำเลยที่ 1 ตกลงตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5 เช่นนั้นถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงที่จะชำระค่าเสียหายให้โจทก์ในกรณีนี้ไว้ด้วยซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามที่เห็นสมควร และกรณีนี้รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกคนร้ายลักไป ความสูญหายของทรัพย์ที่เช่าซื้อไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในรถยนต์ที่เช่าซื้ออีกต่อไป จึงควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ตามสมควร ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 64,770 บาท แก่โจทก์ นั้นสูงเกินส่วน เพราะจำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อเพียง 3 วันและได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงิน 45,000 บาท นอกจากนี้บริษัทจรัญประกันภัย จำกัด ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน160,000 บาท จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์อีกเป็นเงิน 30,000 บาท”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินอีก30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share