แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายในคำฟ้องว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คของจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ พร้อมทั้งแนบสำเนาเช็คและใบคืนเช็คมาด้วย เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดเรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ได้ทวงถามจำเลยแล้วจำเลยทั้งสองไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ย ดังนี้ โจทก์ไม่จำต้องบรรยายถึงว่าเป็นหนี้ค่าอะไร เมื่อใด หรือร่วมกันออกเช็คอย่างไรตามที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ เพราะเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เช็คที่มิได้ลงวันออกเช็คนั้น ผู้ทรงเช็คได้แต่จะกรอกวันเดือนปีลงตามที่ถูกต้องแท้จริงเท่านั้น เพราะผู้สั่งจ่ายเช็คและผู้สลักหลังย่อมประสงค์ที่จะผูกพันโดยอายุความอยู่ด้วยเสมอถ้าไม่ปรากฏว่ามีข้อจำกัดในเรื่องวันสั่งจ่ายที่ผู้ทรงจะลงอย่างไรจึงจะถือว่า ผู้ทรงเช็คจะลงวันไหนก็ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์โดยไม่ลงวัน เดือน ปี ในเช็คเมื่อต้นปี 2526 โดยมีข้อตกลงว่าให้โจทก์ลงวันที่ในเช็คภายหลังจากนั้นเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อโจทก์มาลงวัน เดือน ปีในเช็คเมื่อปี2528 จึงถือว่าโจทก์มิได้ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาทตามข้อตกลงที่ถูกต้องแท้จริง เช็คพิพาทจึงขาดอายุความ หนี้ตามเช็คเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่ง ให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ดังนี้การที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ด้วย ตามมาตรา 59(1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาสีแยกบ้านแขก จำนวนเงิน 107,554 บาทซึ่งเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะส่วนตัวเป็นผู้ลงลายมือชื่อร่วมสั่งจ่ายส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ ครั้นเช็คถึงกำหนดเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยทั้งสองต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน112,924 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1มิได้ร่วมออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดจำเลยที่ 2 ให้การด้วยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 107,554 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นข้อแรก คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากจำเลยทั้งสอง โดยบรรยายคำฟ้องว่า เป็นเช็คของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้พร้อมทั้งแนบสำเนาเช็คและคืนเช็คมาด้วย โจทก์ได้ระบุให้ทราบว่า เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดเรียกเก็บเงินไม่ได้เพราะธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ได้ทวงถามจำเลยแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ยเป็นการบรรยายคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ไม่จำเป็นต้องบรรยายถึงว่าเป็นหนี้ค่าอะไร เมื่อใดหรือร่วมกันออกเช็คอย่างไรตามที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ เพราะเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้
ประเด็นข้อ 2 จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ข้อนี้จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ปฏิเสธความรับผิดไว้ว่า วัน เดือน ปีในเช็คนั้นโจทก์นำมาลงเอาเองโดยไม่สุจริตภายหลังจากเช็คพิพาทขาดอายุความแล้ว ข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเช็คที่มิได้ลงวันออกเช็คนั้น ผู้ทรงเช็คได้แต่จะกรอกวันเดือนปีลงตามที่ถูกต้องแท้จริงเท่านั้นเพราะผู้สั่งจ่ายเช็คและผู้สลักหลังย่อมประสงค์ที่จะผูกพันโดยอายุความด้วยเสมอ ถ้าไม่ปรากฏว่ามีข้อจำกัดในเรื่องวันสั่งจ่ายที่ผู้ทรงจะลงอย่างไร จึงจะถือว่า ผู้ทรงเช็คจะลงวันไหนก็ได้ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ โจทก์นำสืบยอมรับ การที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์นั้น โจทก์ให้จำเลยออกเช็คชำระหนี้ล่วงหน้าได้ 3 เดือน ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ตลอดมา เช็คพิพาทตามเอกสารหมายจ. 3 สั่งจ่ายประมาณต้นปี 2526 ตอนสั่งจ่ายไม่ได้ลงวันที่ไว้เพื่อให้โจทก์ลงเอาเองในปี 2526 นั้น จึงฟังได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้มอบแก่โจทก์โดยไม่ลงวัน เดือน ปี ในเช็คเมื่อต้นปี2526 โดยมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าให้โจทก์ลงวันที่ในเช็คภายหลังจากนั้นเป็นเวลา 3 เดือน แต่โจทก์มาลงวัน เดือน ปี ในเช็คเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2528 ดังนี้ เห็นได้ว่า โจทก์มิได้ลงวันเดือน ปี ในเช็คพิพาทตามข้อตกลงคือเมื่อครบกำหนด 3 เดือนนับแต่รับเช็คพิพาทไว้ในปี2526 ซึ่งถ้าโจทก์ลงวันเดือนปี ตามที่ถูกต้องแท้จริง โจทก์ก็มีสิทธินำเช็คพิพาทมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยไม่เกินปี 2527 มิฉะนั้นย่อมขาดอายุความ การที่โจทก์มาลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาทหลังจากเช็คพิพาทขาดอายุความและภายหลังบัญชี กระแสรายวันของจำเลยปิดแล้วเช่นนี้ถือไม่ได้ว่าโจทก์ลงวัน เดือน ปี ในเช็คพิพาทตามที่ถูกต้องแท้จริง เป็นการไม่สุจริต จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง หนี้ตามเช็คเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 59(1) ให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อคดีปรากฏว่าขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ทั้งนี้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในประเด็นข้ออื่นต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.