คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2350/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินโจทก์ซึ่งตัวแทนจำเลยทำการสร้างถนนผ่านอยู่ในแนวเขตที่จะถูกเวนคืนโดยอยู่ในท้องที่แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร แม้พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกในท้องที่แขวงวัดท่าพระ ฯ จะไม่ได้กำหนดรวมเอาท้องที่ดังกล่าวไว้ด้วยก็ตาม แต่ก็มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนซึ่งออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ระบุท้องที่เขตยานนาวาไว้ด้วยแล้ว หาใช่ว่าที่ดินของโจทก์จะไม่ได้ถูกเวนคืนตามกฎหมายฉบับอื่นด้วยไม่ เมื่อโจทก์เห็นว่าค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดยังไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามส่วนที่ควรจะได้รับ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้เพิ่มจากจำเลยได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินในการเวนคืนให้แก่โจทก์ต่ำเกินไป และไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายในส่วนที่ต่ำไปให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องเป็นคดีใหม่ตามกฎหมายอื่น
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน ๒๘๐,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๗ ให้แก่โจทก์
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนที่ดินเพิ่มให้โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มอบการดำเนินการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินสายรัชดาภิเษกให้แก่กรุงเทพมหานครจำเลย และเปลี่ยนประเภททางหลวงพิเศษสายรัชดาภิเษกเป็นทางหลวงเทศบาลตามเอกสารหมาย ล.๓และ ล.๖ แล้ว ยังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ – แขวงสามเสนนอก พ.ศ.๒๕๒๔ ข้อ ๔ กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้แทนของกรุงเทพมหานครจำเลย และในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีสิทธิมอบอำนาจให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินการสำรวจออกแบบและก่อสร้างทางหลวงสายดังกล่าวเพื่ออนุวัติตามมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาใหม่ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.๑๑ ได้จึงถือได้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนของกรุงเทพมหานครจำเลยในการดำเนินการดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการก่อสร้างทางหลวงสายดังกล่าว การทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ทำการสร้างถนนผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสองจำนวน ๕๑ ตารางวา โดยที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ในแนวเขตที่จะถูกเวนคืน ปรากฏตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.๕ ซึ่งตรงกับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๕ และจำเลยมิได้โต้แย้งว่าอยู่นอกเขตการเวนคืน คงให้การต่อสู้เฉพาะการกำหนดค่าทดแทนเพียงข้อเดียวเท่านั้น ดังนั้นแม้คู่ความทั้งสองฝ่ายจะแถลงรับกันว่าตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกในท้องที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ แขวงตลาดพลู แขวงบุคคโลเขตธนบุรี แขวงคลองเตย เขตพระโขนง แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวางแขวงลาดยาว เขตบางเขน และแขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๒๖ จะไม่ได้กำหนดท้องที่แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา ไว้ก็ตาม ก็หาใช่ว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองจะมิได้ถูกเวนคืนตามกฎหมายฉบับอื่นด้วยไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองเห็นว่าค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดยังไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมตามส่วนที่ควรจะได้รับ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินในส่วนนี้เพิ่มจากกรุงเทพมหานครจำเลยได้ ตามข้อ ๖๗ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ เรื่องทางหลวง ฯลฯ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share