คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5949/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าผิดสัญญาซื้อขาย โดยจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทผ้าย้อมไปจากโจทก์ และได้รับสินค้าถูกต้องครบถ้วนแล้วไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ และได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ไว้ด้วยว่า ในระหว่างที่เกิดมูลคดีนี้ จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 และประทับตราห้างของจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ คำฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ได้บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 แล้ว ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้างเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา
จำเลยที่ 4 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แม้ออกจากหุ้นส่วนไปแล้วก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากหุ้นส่วนไป ตามป.พ.พ. มาตรา 1051 และมาตรา 1052 จำเลยที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดกับห้างจำเลยที่ 1
แม้โจทก์ผู้อ้างเอกสารจะมิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยก่อน 3 วันแต่เมื่อศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 87 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๔ ในระหว่างที่เกิดมูลคดีนี้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๕ เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แต่ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างจำเลยที่ ๑ ในทางการค้าขายของห้างจำเลยที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๒๗จำเลยที่ ๑ ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทผ้าย้อมไปเป็นเงิน ๑,๐๑๔,๘๑๙.๙๘ บาท แล้วไม่ชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๕ ได้นำผ้าย้อมในงวดสุดท้ายส่วนที่ยังไม่ได้ตัดมาคืนให้โจทก์คิดเป็นเงินจำนวน ๗๗๔,๖๗๗.๗๖ บาท ซึ่งโจทก์คิดค่าเสียหายในส่วนผ้าย้อมที่ได้คืนมาร้อยละ ๑๐ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๓๕,๒๕๘ บาท แก่โจทก์ และให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓๑๗,๖๑๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าและไม่เคยได้รับสินค้าตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๗ และได้ขอถอนตัวออกจากห้างจำเลยที่ ๑ตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๗ แล้ว ในขณะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ ๑ นั้นจำเลยที่ ๑ ไม่เคยซื้อสินค้าจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนผ้าที่ได้คืนมาในอัตราร้อยละ ๑๐ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ ไม่ได้สอดเข้าดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ การกระทำของจำเลยที่ ๕ ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดภาระผูกพันให้จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๑๗,๖๑๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาตามที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๔ เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่าผิดสัญญาซื้อขาย โดยบรรยายฟ้องว่า ในระหว่างวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๗จำเลยที่ ๑ ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทผ้าย้อมไปจากโจทก์รวม ๑๐ ครั้ง จำเลยที่ ๑ ได้รับสินค้าดังกล่าวไปจากโจทก์ถูกต้องครบถ้วนแล้วไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๖และได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ ๔ ไว้ด้วยว่า ในระหว่างที่เกิดมูลคดีนี้ จำเลยที่ ๔ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการมีอำนาจลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ และประทับตราห้างของจำเลยที่ ๑ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๔ และคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย ดังนี้จะเห็นว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๔ ได้บรรยายแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ แล้ว ส่วนจำเลยที่ ๔ จะต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้างเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ดังนั้นฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ ๔ ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ ๔ ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ นั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๔ ให้การว่า เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่วันที่๑๓ กันยายน ๒๕๒๗ ถึง ๓ ตุลาคม ๒๕๒๗ เพราะจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขอกู้เงินจากจำเลยที่ ๔ จึงให้จำเลยที่ ๔ ร่วมเป็นผู้จัดการด้วยเพื่อขอรับเงินจากใบสั่งสินค้าโดยผ่านทางธนาคารในประเทศ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๔ ได้ขอถอนตัวออกจากห้างจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๔ อ้างว่าการซื้อขายดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ ๔ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่าขณะจำเลยที่ ๑ ได้สั่งซื้อสินค้าไปจากโจทก์นั้น จำเลยที่ ๔ ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ ๑ และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนและแม้ผู้เป็นหุ้นส่วนออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากหุ้นส่วนไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๕๑ และมาตรา ๑๐๕๒เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้สั่งซื้อผ้าไปจากโจทก์จริง จำเลยที่ ๔ ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายร้อยละ ๑๐ เป็นเงิน ๗๗,๔๖๗.๗๗ บาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ ๑คืนผ้าย้อมที่สั่งซื้อให้แก่โจทก์ โจทก์นำไปขายต่อได้ราคาต่ำลง ๗๗,๔๖๗.๗๗ บาท เพราะเป็นสินค้าเหลือ จำเลยที่ ๔ จึงต้องรับผิดในเงินจำนวนนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ฎีกาจำเลยที่ ๔ ข้อสุดท้ายว่าโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.๑๖ แก่จำเลยที่ ๔ ก่อน ๓ วันนั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๗ (๒)ฎีกาจำเลยที่ ๔ ทุกข้อฟังไม่ขึ้น ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share