แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การคิดคำนวณดอกเบี้ยของค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับเป็นต้นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 5341 ตั้งอยู่แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา (พระโขนง) กรุงเทพมหานครจำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีหน้าดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษาทางหลวงเทศบาลในกรุงเทพมหานครโดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการแทนเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2524ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ แขวงสามเสนนอกในท้องที่เขตบางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตยานนาวา เขตพระโขนงเขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง และเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2525ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้ทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกดังกล่าวเป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน และปรากฏว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในบริเวณที่ถูเวนคืนด้วยเป็นจำนวนเนื้อที่ 51 ตารางวา ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ซึ่งมีราคาตามท้องตลาดขณะที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่น้อยกว่าตารางวาละ8,000 บาท ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2528 จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวรคืนตารางวาละ 500 บาท จำนวนเนื้อที่ 51 ตารางวาเป็นเงิน 25,500 บาท แล้วนำเงินค่าทดแทนจำนวนดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม2528 ซึ่งโจทก์ได้ไปรับเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 แต่สงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนเพิ่มเติมจากจำเลยเนื่องจากที่ดินของโจทก์ในบริเวณที่ถูกเวนคืนมีราคาตามท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 8,000 บาท ที่ดินถูกเวนคืนจำนวน 51 ตารางวา คิดเป็นเงิน 408,000 บาท จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์เพิ่มอีกเป็นเงิน 382,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 19 ธันวาคม2524 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ แขวงสามเสนนอกพ.ศ. 2524 ใช้บังคับ จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 129,447 บาท 43สตางค์ รวมทั้งหมดจำเลยจะต้องชำระให้โจทก์เป็นเงิน 511,947 บาท43 สตางค์ ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 511,947 บาท 43 สตางค์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 382,500 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2514 มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายรัชดาภิเษกตอนตำบลวัดท่าพระ ตำบลสามเสนนอก อยู่ในท้องที่อำเภอบางกอกใหญ่ อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี และอำเภอยานนาวาอำเภอพระโขนง อำเภอปทุมวัน อำเภอพญาไท อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2514 ต่มาวันที่22 กันยายน 2520 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศกำหนดให้ทางหลวงตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 23 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2514 เป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2523 คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการสำรวจออกแบบและก่อสร้างถนนรัชดาภิเษกช่วงจากถนนนางลิ้นจี่ถึงถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นจำเลยเป็นผู้ตั้งงบประมาณให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยรับไปดำเนินการ ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกอันเป็นทางหลวงสายเดียวกับที่กำหนดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 ลงวันที่ 18 ธันวาคม2514 โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม2524 ทำให้การกำหนดแนวทางหลวงตามประกาศของคณะปฏิวัติและพระราชกฤษฎีกากำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อเนื่องกันโดยมิได้ขาดตอน ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2527 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างและขยายทางหลวงสายนี้ด้วย ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเพื่อก่อสร้างทางสายนี้ ซึ่งคณะกรรมการได้กำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ใช้ในปี พ.ศ. 2514ปรากฏว่าราคาที่ดินของโจทก์ในขณะนั้นตารางวาละ 300-500 บาทตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 10 จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ในอัตราขั้นสูงตารางวาละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 25,500 บาทนอกจากนี้จำเลยยังกำหนดค่าดินถมปรับพื้นให้อีก 22,500 บาท และค่าพืชผลให้อีก 1,600 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 49,540 บาท จึงเป็นราคาที่เป็นธรรมตามกฎหมายแล้ว และจำเลยได้นำเงินดังกล่าวไปวางไว้ ณสำนักงานวางทรัพย์กลางเพื่อให้โจทก์รับไป และโจทก์ได้รับแล้วจึงไม่อาจเรียกค่าทดแทนและดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินของโจทก์มีราคาตารางวาละ 8,000 บาทนั้น ไม่เป็นความจริงเนื่องจากในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524มาใช้บังคับ คือวันที่ 20 ธันวาคม 2524 ราคาที่ดินของโจทก์ในแขวงช่องนนทรี ตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งกำหนดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2521 ราคาที่ดินในแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา ซึ่งที่ดินของโจทก์อยู่ในหน่วยที่ 9ราคาตารางวาละ 800 บาท เท่านั้น
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟัองร้องเป็นคดีใหม่ตามกฎหมายอื่นและเห็นสมควรให้คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอื่น่นอกจากนี้และค่าทนายความให้เป็นพับแก่กันทั้งหมด
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่าให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 280,500บาท พร้อมกันดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 4,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 5341 ตั้งอยู่แขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 3 ไร่ 53 ตารางวาตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีหน้าที่สร้างและขยายทางหลวงในเขตกรุงเทพมหานครโดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการแทน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2514 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายรัชดาภิเษก ตอนตำบลวัดท่าพระ-ตำบลสามเสนนอก ในท้องที่อำเภอบางกอกใหญ่ อำเภอธนบุรี จังหวัดธนบุรี และอำเภอยานนาวา อำเภอพระโขนง อำเภอปทุมวัน อำเภอพญาไท อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนครตามเอกสารหมาย ล.2 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2514เป็นต้นไป ต่อมาวันที่ 16 กันยายน 2523 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้การทางพิศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการสำรวจออกแบบและก่อสร้างถนนสายนี้ช่วงจากถนนนางลิ้นจี่ถึงถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาโดยให้จำเลยเป็นผู้ตั้งงบประมาณให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยรับไปดำเนินการตามเอกสารหมาย ล.8 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2524 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ในท้องที่เขตบางกอกใหญ่เขตธนบุรี เขตยานนาวา เขตพระโขนง เขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง และเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย ล.9 และในวันที่ 12มีนาคม 2525 ได้มีประกาศของกระทรวงมหาดไทย กำหนดให้ทางหลวงเทศบาลสายดังกล่าวเป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนตามเอกสารหมาย ล.10 ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2526 มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงสายรัชดาภิเษกใช้บังคับ จำเลยได้นำที่ดินของโจทก์จำนวน 51 ตารางวา ไปสร้างถนนโดยเมื่อวันที่27 มิถุนายน 2527 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ทำการแทนจำเลยในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการแทนตามเอกสารหมาย ล. 11 ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2527 กระทรวงมหาดไทยได้แต่ตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาไก่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกเวนคืน ตามเอกสารหมาย ล.12 คณะกรรมการปรองดองได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตามราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในปี พ.ศ. 2514 ตามเอกสารหมาย ล.17 คือตารางวาละ 500 บาท เป็นเงิน 25,500 บาท แล้วจำเลยได้นำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2528 ซึ่งโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2529 แต่สงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนเพิ่มเติมจากจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.8 … เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองในราคาตรางวาละ6,000 บาท นับว่าเป็นราคาที่เหมาสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน280,500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2527 อันเป็นวันที่จำเลยมอบอำนาจให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการแทนนั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะในกรณีเช่นี้ ตามข้อ 67 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ให้คิดดอกเบี้นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับคือวันที่ 20 ธันวาคม 2524 เป็นต้นไปศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกา…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.