แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า จำเลยตกลงเช่าซื้อทรัพย์สินของโจทก์ที่โจทก์จำนองไว้ต่อธนาคาร ถ้าจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงินให้โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาได้ ดังนี้ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีกล่าวถึงเรื่องไถ่ถอนจำนองก็ไม่มีข้อตกลงให้จำเลยรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยของหนี้จำนองแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยหนี้จำนองทรัพย์สินที่จำเลยเช่าซื้อจากโจทก์ และโจทก์ต้องเสียให้ธนาคารในระหว่างจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าซื้อโรงภาพยนตร์พร้อมทั้งที่ดินกับเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการภาพยนตร์ของโจทก์ แล้วผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเช่าซื้อ ต่อมาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุด
ในระหว่างระยะเวลาที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นโต้เถียงกันอีกว่าฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาดังกล่าว
วันนัดพร้อม โจทก์แถลงว่าจำเลยกู้เงินจากธาคารได้แล้วแต่ไม่นำเงินมาชำระให้โจทก์ โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารเดือนละ 30,330.20 บาท (ปรากฏว่าก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น โจทก์จำนองทรัพย์สินที่เช่าซื้อไว้ต่อธนาคาร) การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ ทำให้โจทก์ต้องรับภาระในเรื่องดอกเบี้ยตลอดมานับตั้งแต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินงวดที่ 2 ขอให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยแถลงว่าเรื่องดอกเบี้ยตามที่โจทก์เรียกร้องนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ผิดเอง จำเลยไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยผิดนัด แต่โจทก์มีส่วนผิดอยู่ด้วย โจทก์ย่อมมีส่วนรับผิดในเรื่องดอกเบี้ย ดอกเบี้ยที่โจทก์เสียไปตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์2517 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2517 นั้น ให้โจทก์และจำเลยรับผิดคนละกึ่งส่วนดอกเบี้ยหลังจากวันที่ 29 กรกฎาคม 2517 จะได้สั่งต่อไป ปรากฏตามคำสั่งศาลลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2517
จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย ปรากฏตามคำสั่งศาลลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2517
ในวันเดียวกันนั้น จำเลยแถลงว่าได้ชำระหนี้และดอกเบี้ย (99,458บาท) ตามคำสั่งศาลให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์แถลงรับว่าเป็นความจริงและแถลงว่าได้จัดการไถ่ถอนจำนองที่โจทก์จำนองที่ดินโฉนดที่ 12760 กับโฉนดที่ 12757 และโอนใส่ชื่อจำเลยเรียบร้อยแล้วคู่ความแถลงร่วมกันว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามสัญญาประนีประนอมยอมความครบถ้วนแล้ว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้โจทก์คืนดอกเบี้ย 99,458บาทแก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
วินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยหรือไม่ โจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยตามกฎหมายและตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 นั้น ปรากฏว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 3 มีข้อความดังนี้ คือ “โฉนดที่ดินเลขที่ 12760 พร้อมด้วยโรงภาพยนตร์และเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ของโรงภาพยนตร์ตามสัญญาเช่าซื้อท้ายฟ้อง นายประเสริฐ และโจทก์ในคดีแพ่งดำที่ 69,103/2516 ได้ตกลงซื้อในราคาสามล้านสามแสนบาทถ้วน เงินจำนวนนี้จะผ่อนชำระให้เป็นงวด ๆ งวดละสองแสนบาท งวดแรกชำระไม่เกินวันที่ 10 มกราคม 2517 และงวดต่อ ๆ ไป จะชำระให้เดือนละครั้งจนเสร็จสิ้นเงินจำนวนสามล้านสามแสนบาทถ้วนแต่ต้องไม่เกินระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันนี้หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดสัญญา และถ้าไม่ชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน ก็ให้ถือว่าผิดสัญญาเช่นเดียวกัน เงินที่ได้ชำระไปแล้วให้ถือว่าเป็นค่าเช่าตกได้แก่นายประพันธ์และนายประพันธ์รวมทั้งบริษัทสยามรามา จำกัด มีสิทธิขอให้ศาลออกหมายบังคับคดียึดเอาที่ดินพร้อมด้วยโรงภาพยนตร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของโรงภาพยนตร์ตามสัญญาเช่าซื้อท้ายฟ้องมาเป็นของนายประพันธ์และบริษัทสยามรามา จำกัดและมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการผิดสัญญานี้”เห็นได้ว่า ตามข้อตกลงดังกล่าวกรณีที่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญานั้นได้ ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 6 ที่มีกล่าวถึงเรื่องไถ่ถอนจำนอง ก็ไม่มีข้อตกลงให้จำเลยรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยของหนี้จำนองแต่อย่างใด ถ้าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยของหนี้จำนอง ก็น่าจะมีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ทั้งกรณีก็ไม่เข้าตามตัวบทกฎหมายที่โจทก์อ้างข้ออ้างของโจทก์ฟังไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย
พิพากษายืน