คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ในมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา นั้น ต้องถือว่าเป็นเจตนาพิเศษ เมื่อโจทก์นำสืบ ไม่ได้ว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ คือ ไม่จับกุมไม้รายนี้ เพื่อจะให้เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้โดยตรง แต่เป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายจะช่วยราษฎรผู้กระทำความผิดเท่านั้น จำเลยจึงยังไม่มีความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอตรีเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 เป็นราษฎร ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ออกตรวจท้องที่และเยี่ยมเยียนราษฎรตามคำสั่งของนายอำเภอกันทรารมณ์ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่จำเลยได้ตรวจพบไม้แปรรูปไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นไม้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีชื่อรวม 11 คน จำเลยได้ตรวจวัดและยึดไม้ดังกล่าวเป็นของกลางแล้ว แทนที่จะจับกุมผู้มีชื่อเหล่านั้น และนำไม้ของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี จำเลยที่ 1 กลับเรียกเอาเงินจากผู้มีชื่อทั้ง 11 คน ๆ ละ 500 บาท เมื่อได้แล้วก็ปล่อยตัวเจ้าของไม้ 11 คนพร้อมทั้งคืนไม้ของกลางให้เจ้าของไปอันเป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้เพื่อช่วยเจ้าของไม้แปรรูปมิให้ต้องโทษ จำเลยที่ 2 กับพวกที่ยังหลบหนีอีก 1 คนได้ทำการสนับสนุนการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, 157, 200, 83, 86 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2512 มาตรา 5, 13 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาดำที่ 654/2512 กับคดีอาญาดำที่ 652/2512 และคดีอาญาดำที่ 653/2513 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากคดีอาญาดำที่ 654/2514 ของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ รับว่าเป็นคน ๆ เดียวกับคดีที่กล่าวตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 จำคุก 2 ปี นับโทษต่อให้ตามขอ ยกฟ้องจำเลยที่ 2

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องทุกมาตรา

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดด้วย พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามศาลชั้นต้น และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานผู้สนับสนุน ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะส่วนที่ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ส่วนฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2 ไม่รับ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219

คดีจึงมีปัญหาว่า จะลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ ปัญหาความผิดตามมาตรา 149 และมาตรา 200 เป็นอันยุติ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ ในข้อหาความผิดตามมาตรา 149 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 มิได้รับเงินรายนี้จากผู้เสียหาย จึงไม่อาจเรียกได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็ตาม แต่จำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งในคดีนี้คือกรมป่าไม้หรือไม่ ตามคำพยานโจทก์ที่นำสืบมา ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นปลัดอำเภอละเว้นไม่จับกุมไม้ของผู้เสียหายซึ่งเป็นไม้ที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่การละเว้นเช่นนี้จะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามความในมาตรา 157 ดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 157 ใช้คำว่า “เพื่อ” ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งในที่นี้คือกรมป่าไม้ จึงต้องถือว่าเป็นเจตนาพิเศษ แต่ข้อเท็จจริงที่ได้ความในคดีนี้ โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ คือ ไม่จับกุมไม้รายนี้เพื่อจะให้เกิดความเสียหายแก่กรมป่าไม้โดยตรง แต่เป็นที่เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหมายที่จะช่วยราษฎรผู้กระทำความผิดเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงยังไม่มีความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาชอบแล้ว

Share