คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3755/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยหลีกเลี่ยงให้โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันและหาทางบ่ายเบี่ยงไม่ให้ค่าจ้างโจทก์ในวันที่โจทก์มาลงชื่อเพื่อปฏิบัติงานในวันต่อไป เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการอุทธรณ์นอกเหนือไปจากที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 235 วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์และจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานของจำเลยทุกคนในวันที่ 28 สิงหาคม 2533 โดยไม่มีข้อความว่าจะจ่ายให้แก่พนักงานที่พ้นสภาพการเป็นพนักงานก่อนวันดังกล่าว ย่อมมีความหมายว่าการจ่ายเงินโบนัสของจำเลยในวันดังกล่าว นอกจากพนักงานผู้มีสิทธิได้รับเงินโบนัสต้องมีอายุการทำงานครบ 1 ปี นับแต่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว ยังต้องมีตัวอยู่ในวันที่มีการจ่ายเงินโบนัสด้วย เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างก่อนวันที่จำเลยจะจ่ายเงินโบนัส โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส
จำเลยจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายเป็นการผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังจ่ายให้ไม่ครบตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์ระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 31 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่าย และเงินโบนัสประจำปี ๒๕๓๒ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง และอัตราร้อยละสิบห้าต่อทุก ๗ วัน ของค่าจ้างที่ค้างนับแต่วันผิดนัก จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่เคยค้างค่าจ้างโจทก์ โจทก์ได้ถูกเลิกจ้างก่อนวันจ่ายเงินโบนัสและทำงานไม่ครบ ๑ ปี ไม่มีสิทธิได้รับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์จำนวน ๘๔๐.๖๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ ๒๓๒ ว่า จำเลยได้ขออนุญาตให้โจทก์เป็นพนักงานตรวจสอบสินค้าของจำเลย ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๔ ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. ๒๕๐๓ ว่าด้วยผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ข้อ ๗ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑๐ และ จ.๑๑ ซึ่งโจทก์จะต้องได้รับเงินเดือนประจำนับแต่เริ่มแรกเข้าทำงาน แต่จำเลยหลีกเลี่ยงกฎหมายดังกล่าวให้โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันและยังหาทางบ่ายเบี่ยงไม่ให้ค่าจ้างโจทก์ในวันที่มาลงชื่อเพื่อปฏิบัติงานในวันต่อไป เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่โจทก์มาลงชื่อดังกล่าว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยได้รับค่าจ้างเริ่มแรกเป็นรายวันวันละ ๘๕ บาท จนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๑ จำเลยได้ปรับค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือนเดือนละ ๒,๒๐๐ บาท และต่อมาในเดือนตุลาคม ๒๕๓๒ จำเลยได้ปรับค่าจ้างให้โจทก์อีกครั้งหนึ่งเป็นเดือนละ ๓,๓๕๐ บาท ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยหลีกเลี่ยงให้โจทก์เป็นลูกจ้างรายวันและหาทางบ่ายเบี่ยงไม่ให้ค่าจ้างโจทก์ในวันที่โจทก์มาลงชื่อเพื่อปฏิบัติในวันต่อไปเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการอุทธรณ์นอกเหนือไปจากที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ ๒.๓ ว่า การจ่ายเงินโบนัสของจำเลยมีการทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างว่าตกลงจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเท่ากับค่าจ้างคนละ ๑ เดือน ซึ่งสามารถคำนวณเป็นสัดส่วนในการจ่ายเงินโบนัสให้โจทก์ได้ตามระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินโบนัสจากจำเลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๒ โจทก์จำเลยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย ล.๓ ว่า จำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานของจำเลยเท่ากับค่าจ้างคนละ ๑ เดือน โดยไม่มีข้อตกลงว่าจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานที่พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานก่อนวันที่จำเลยจ่ายเงินโบนัส ซึ่งจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานทุกคนในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๓ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ จากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวแสดงว่า การที่จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๓ นอกจากพนักงานผู้มีสิทธได้รับเงินโบนัสจะต้องมีอายุการทำงานครบ ๑ ปี นับแต่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้ว ยังจะต้องมีตัวอยู่ในวันที่มีการจ่ายเงินโบนัสด้วย โจทก์ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ก่อนที่จำเลยจะจ่ายเงินโบนัส จึงไม่มีสิทธิรับเงินโบนัส อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ ๒.๔ ว่า จำเลยพยายามบ่ายเบี่ยงหลีกเลี่ยงหรือมีเจตนาที่จะไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์โดยถูกต้องตลอดมา ถือว่าจำเลยจงใจผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างที่ยังไม่ได้จ่ายให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลา ๗ วัน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเดิมโจทก์เป็นลูกจ้างรายวันของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้ แต่เมื่อจำเลยปรับค่าจ้างให้โจทก์เป็นรายเดือนและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ ๒,๒๐๐ บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ก็เนื่องจากเข้าใจผิดในเรื่องวันทำงานของลูกจ้างรายเดือน มิใช่เป็นการจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัย ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายเป็นการผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างส่วนที่ยังจ่ายให้ไม่ครบตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงิน ๘๔๐.๖๐ บาท จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่โจทก์ระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๓๑ วรรคแรก มิใช่คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าจ้างจำนวน ๘๔๐.๖๐ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๓๓) จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share