คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17 ของ ย. เป็นเอกสารซึ่ง ปลอมว่านายทะเบียนตำบลบ้านโฮ่งได้รับแจ้งย้ายออกของย. ว่าย้ายออกจากบ้านเลขที่ 190/7 หมู่ที่ 8 ในเขตอำเภอบ้านโฮ่ง ไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 4/8 ถนนประชาราษฎร์แขวงบางซื่อเท่านั้น มิได้มีข้อความที่เป็นการก่อให้เกิดสิทธิอย่างใดแก่ ย. ในตัวเอกสารนั้นใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของ ย. ก็เป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่าเจ้าพนักงาน ได้รับคำขอของ ย. ไว้แล้วมิได้มีข้อความที่เป็นการก่อให้เกิดสิทธิอย่างใดแก่ ย.ในตัวเอกสารนั้นจึงถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารสิทธิ คงถือได้ว่าเป็นเอกสารราชการเท่านั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266,84. เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265,84 ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่1 ผู้มิได้ฎีกาด้วยได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265,84 รวม 31 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ที่แก้ไขใหม่ ได้บัญญัติในเรื่องรวมโทษทุกกระทงสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3ปีแต่ไม่เกิน10 ปีไว้ให้จำคุกทั้งสิ้นได้ไม่เกิน 20ปี ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่เป็นคุณแก่จำเลย และความผิดของจำเลยต้องด้วยมาตรา 91(2) จึงให้รวมโทษทั้ง 31 กระทงเป็นจำคุกจำเลย 20 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมคือ จำเลยที่ 2 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้คนต่างด้าวคือนายยุกและนายประสานรวมทั้งบุคคลอื่นได้มีภูมิลำเนาปรากฏในทะเบียนสำมะโนครัวในราชอาณาจักรไทยเพื่อให้คนเหล่านั้นขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้ โดยจำเลยที่ 1 ได้ใช้ให้นายนิวัติทำการปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ โดยนายนิวัติร่วมกับนายสุทัศน์ได้ร่วมกันเขียนข้อความเท็จลงในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17 บัตรทะเบียนคนไทย ท.ร.15 และใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนจำนวน 49 ฉบับ แต่ที่เจ้าพนักงานตรวจพบมีเพียงใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17 จำนวน 31 ฉบับ แจ้งย้ายบุคคลที่ได้รับคำสั่งมาจากจำเลยที่ 2รวม 49 คน ความจริงบุคคลเหล่านี้ไม่มีตัวและไม่มีชื่อที่อยู่จริงในตำบลบ้านโฮ่งอำเภอบ้านโฮ่ง แต่ได้ทำเป็นแจ้งย้ายบุคคลเหล่านั้นออกจากตำบลบ้านโฮ่ง ไปยังที่ต่าง ๆ ในราชอาณาจักรไทย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้มอบบัญชีรายชื่อบุคคลต่าง ๆ ที่ประสงค์จะมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยให้แก่จำเลยที่ 1 รวม 33 ฉบับ แล้วจำเลยที่ 1 ได้ใช้นายนิวัติทำการปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการโดยร่วมกับนายสุทัศน์กรอกข้อความเท็จลงในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17 รวม 31 ฉบับเพื่อย้ายบุคคลต่าง ๆ รวม 49 คนซึ่งมิได้มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ย้ายออกแต่กรอกข้อความเท็จลงไปว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้นแล้วแจ้งย้ายไปอยู่ที่ใหม่ เป็นการเสียหายแก่ราชการและจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกำนันและนายทะเบียนตำบลบ้านโฮ่งร่วมกับนายสุทัศน์กระทำการปลอมใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17 จำนวน 31 ฉบับดังกล่าว หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 ได้มอบเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมเหล่านั้นให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วนำไปให้บุคคลอื่น 49คนทำการแจ้งย้ายไปอยู่ในที่ต่าง ๆ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266, 267, 268, 157, 83, 84,91

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 266 ประกอบด้วยมาตรา 84 ลงโทษฐานปลอมเอกสารราชการตามมาตรา 265 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 30 กระทงเป็นจำคุก 60 ปี และลงโทษฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการเกี่ยวกับนายยุกซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวตามมาตรา 266 จำคุก 5 ปี อีกกระทงหนึ่ง รวมทั้งสิ้น 31 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ 65 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง

โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้ให้ทำการปลอมเอกสารแล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า เอกสารใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17 ของนายยุกตามเอกสารหมาย จ.1 (22) และหมาย จ.22 (2) นั้น เป็นเอกสารซึ่งปลอมว่านายทะเบียนตำบลบ้านโฮ่งได้รับแจ้งย้ายออกของนายยุก แซ่ลี้ ว่าย้ายออกจากบ้านเลขที่ 190/7 หมู่ที่ 8 ในเขตอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูนไปอยู่ยังบ้านเลขที่ 4/8 ถนนประชาราษฎร์ แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เท่านั้น มิได้มีข้อความใดที่เป็นการก่อให้เกิดสิทธิอย่างใดแก่นายยุกในตัวเอกสารนั้นเลย ใบรับคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนของนายยุกตามเอกสารหมาย จ.2(2)ก็เป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่าเจ้าพนักงานได้รับคำขอของนายยุกไว้แล้วเท่านั้นหาได้มีข้อความที่เป็นการก่อให้เกิดสิทธิอย่างใดแก่นายยุกในตัวเอกสารนั้นไม่จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารสิทธิ คงถือได้ว่าเป็นเอกสารราชการอย่างหนึ่งเท่านั้นจำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารราชการตามมาตรา 265เท่านั้น และปัญหาข้อกฎหมายดังว่านี้เป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1จะไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 84 รวม 31 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี โดยที่ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ให้ยกเลิกมาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเดิมและให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยบัญญัติในเรื่องรวมโทษทุกกระทงสำหรับกรณีความผิด กระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปีไว้ว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 20 ปี ดังนั้นจึงต้องใช้กฎหมายใหม่ส่วนที่เป็นคุณดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 และโดยที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดของจำเลยคดีนี้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 84 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 91(2) ที่แก้ไขใหม่ซึ่งจะรวมโทษจำคุกทั้งสิ้นได้ไม่เกิน 20 ปี จึงให้รวมโทษทั้ง 31 กระทงของจำเลยที่ 1ที่ 2 เป็นจำคุกคนละ 20 ปี ส่วนข้อหาฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266, 84 ให้ยกเสีย นอกจากที่แก้นี้แล้วคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share