คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2344/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยออกหมายเรียกตาม ป.รัษฎากร มาตรา 32 ถึง อ.หุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของโจทก์ให้ไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ พร้อมทั้งให้นำสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการขายรถยนต์ ระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. จำกัด ไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยส่งหมายเรียกดังกล่าวด้วยวิธีทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ มี ว. อายุ 16 ปีบุตรชายของ อ. เป็นผู้รับ ซึ่งตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ข้อ 353กำหนดว่าไปรษณียภัณฑ์ และพัสดุไปรษณีย์ที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้ว นับแต่วันเวลาที่นำจ่ายดังนั้น เมื่อ ว.เป็นผู้รับหมายเรียกต้องถือว่าอ.หุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของโจทก์ได้รับหมายเรียกดังกล่าวแล้วโดยชอบ เมื่อ อ. ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30(2ประกอบกับมาตรา 33.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของห้างโจทก์ไม่ถูกต้องกับความจริงไม่ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย โจทก์จึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ให้เหตุผลว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากโจทก์ผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จึงหมดสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัย ความจริงผู้ชำระบัญชีห้างโจทก์ไม่เคยได้รับหนังสือจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ทราบว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต้องการให้โจทก์ไปไต่สวนหรือนำพยานหลักฐานต่าง ๆ ไปแสดงต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์มิได้จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การส่งหมายเรียกดังกล่าวส่งให้บุคคลอื่นที่ยังมิได้บรรลุนิติภาวะ ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อ้างว่าโจกท์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกตามมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากรจึงเป็นข้อกล่าวอ้างที่ฟังไม่ขึ้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
โจทก์ถอนฟัองจำเลยที่ 3 ที่ 4 ศาลชั้นต้นให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ที่ 4
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร ให้หุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของโจทก์ไปพบเพื่อไต่สวน โดยส่งหมายเรียกทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังนายอมร สิงห์สำเภาเลิศหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของโจทก์ ณ ภูมิลำเนาเลขที่2/17 ถนนบำเพ็ญกุศล แขวงทุ่งวัดดอน เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครบุคคลในบ้านของนายอมรเซ็นรับหมายเรียกไว้แทน โจทก์ได้รับหมายเรียกไว้โดยชอบแล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกโดยไม่ไปพบและส่งเอกสารตามหมายเรียกคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินชอบแล้ว จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นฎีกาเห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า จำเลยส่งหมายเรียกให้โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และบทกฎหมายที่จะนำมาปรับแก่คดีจะต้องเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะส่งหมายเรียกนั้น ซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 8 บัญญัติว่า
“หมายเรียก หรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลโดตามลักษณะนี้จะให้นำไปส่งในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกหรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้
ถ้าให้นำไปส่ง เมื่อผู้ส่งไม่พบผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และอยู่ในบ้านหรือสำนักงานของผู้รับก็ได้
ฯลฯ
เมื่อได้ส่งหมายหรือหนังสืออื่นตามวิธีดังกล่าวข้างต้นให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้ว”
เห็นได้ว่า มาตรา 8 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ส่งหมายเรียกได้ 2 วิธีคือ วิธีให้นำไปส่ง และวิธีส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ผู้ส่งจะเลือกส่งโดยวิธีใดวิธีหนึ่งในสองวิธีดังกล่าวก็ได้ และวรรคสองบัญญัติถึงเรื่องการให้นำไปส่งโดยเฉพาะว่าในการส่งโดยวิธีให้นำไปส่งนั้น ถ้าไม่พบผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลผู้บรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่ในบ้านหรือสำนักงานของผู้รับก็ได้ สำหรับการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนนั้น มาตรา 8 มิได้ระบุว่าจะส่งให้แก่บุคคลผู้บรรลุนิติภาวะแล้วก็ได้ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้รับ ดังนั้นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนจึงต้องบังคับตามไปรษณียนิเทศการส่งหมายเรียกที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ซึ่งเป็นการส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนอย่างหนึ่งจึงเป็นการส่งโดยวิธีการที่มาตรา 8 อนุญาตให้กระทำได้ และต้องบังคับตามไปรษณียนิเทศเช่นเดียวกับการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนโดยทั่วไปหรือการส่งทางไปรษณีย์อย่างอื่น ๆ สำหรับไปรษณียนิเทศซึ่งใช้บังคับขณะจำเลยส่งหมายเรียกที่พิพาทกัน ในคดีนี้ก็คือไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2524 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ข้อ 350 ของไปรษณียนิเทศฉบับนี้ กำหนดว่าไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้ ข้อ 351 กำหนดว่าในกรณีจำหน่ายณ ที่อยู่ของผู้รับ การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับคือ บุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือที่สำนักทำการงานของผู้รับเจ้าหน้าที่รับรองหรือผู้ดูแลของโรงแรมหรืออาคารผู้ทำหน้าที่เวรรับส่งหรือเวรรักษาการณ์ของสำนักทหาร โรงเรียนและหน่วยทหาร ส่วนข้อ 353 กำหนดว่าไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ที่นำมาจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย ดังนั้นเมื่อนายวรพล สิงห์สำเภาเลิศ บุตรชายของหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของโจทก์เป็นผู้รับหมายเรียกที่พิพาทกันในคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2526 ตามใบตอบรับเอกสารหมาย ล.14 จึงต้องถือว่านายอมรสิงห์สำเภาเลิศ หุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของโจทก์ได้รับหมายเรียกดังกล่าวแล้วโดยชอบเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2526นั้นเอง เมื่อนายอมรไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกดังกล่าวโดยไม่มีเหตุอันสมควร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) ประกอบกับมาตรา 33 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share