คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2343/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกโจทก์ฟ้องคดีอาญาในข้อหาว่ายักยอกเงินโจทก์ไป214,878 บาท 8 สตางค์ ระหว่างพิจารณาคดีอาญาโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ตามสัญญาข้อ 1 จำเลยยอมรับผิดใช้เงินจำนวน 50,000 บาท เพื่อเป็นการชดเชยยอดเงินที่ขาดบัญชี จ่ายซ้ำสองครั้ง ส่วนตามสัญญาข้อ 2 ยอดเงินที่ใช้จ่ายไปโดยไม่มีใบสำคัญจำนวน 130,045 บาท 75 สตางค์ โจทก์ยอมให้จำเลยไปจัดหาใบสำคัญมาหักล้าง หรือหลักฐานอื่นอันแสดงว่าได้ใช้จ่ายไปมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการบริษัทโจทก์ภายใน 120 วัน และข้อ 3 ฝ่ายโจทก์ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไปอีก ดังนี้เมื่อจำเลยไม่จัดหาใบสำคัญมาหักล้างหรือหลักฐานอื่นอันแสดงว่าได้ใช้จ่ายไปมาแสดงภายใน 120 วัน ปัญหาว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินที่ใช้จ่ายไปจำนวน 130,045 บาท 75 สตางค์ ให้แก่โจทก์ตามสัญญาข้อ 2 หรือไม่ เป็นเรื่องการตีความแสดงเจตนาซึ่งต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 132 และความประสงค์หรือเจตนาของคู่สัญญาต้องแปลจากสัญญาทั้งฉบับไม่ใช่ยกเอาเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งหรือสัญญาข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมาแปล สัญญาประนีประนอมดังกล่าวแม้จะไม่มีข้อความว่าถ้าจำเลยหามาไม่ได้ภายในกำหนดจำเลยจะต้องชดใช้เงินให้โจทก์ แต่ก็เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยได้ว่าต้องการระงับคดีอาญาโดยจำเลยต้องใช้เงินในสัญญาข้อ 1 ให้โจทก์ ส่วนตามข้อ 2 นั้น ยังมีปัญหาว่าจำเลยได้ใช้จ่ายไปจริงหรือไม่ โจทก์จึงให้โอกาสจำเลยไปหาใบสำคัญมาแสดงอันเป็นการแสดงเจตนาแก่จำเลยว่า ถ้าจำเลยหาใบสำคัญหรือหลักฐานการใช้เงินมาแสดงได้ โจทก์ยอมหักเงินให้จำเลย ถ้าจำเลยหามาไม่ได้ก็ต้องรับผิดในเงินยอดนั้นเมื่อจำเลยหามาไม่ได้ภายใน 120 วัน ตามสัญญาข้อ 2 ก็ต้องถือว่าจำเลยยอมรับผิด และไม่เข้ากรณีที่มีข้อสงสัยอันให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11(ประชุมใหญ่ครั้งที่19/2521)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่าง พ.ศ. 2510 ถึง พ.ศ. 2512 จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ จำเลยยักยอกเงินบริษัทโจทก์ไป 214,787 บาท 88 สตางค์บริษัทโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญา ระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าวโจทก์กับจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จำเลยยอมชดใช้เงินให้โจทก์ 50,000 บาทเพื่อชดเชยเงินที่ขาดบัญชี การจ่ายเงินซ้ำสองครั้งและรับเงินแล้วไม่ฝากธนาคารส่วนยอดเงินที่ใช้จ่ายโดยไม่มีใบสำคัญจำนวน 130,045 บาท 75 สตางค์ โจทก์ยอมให้จำเลยจัดหาใบสำคัญมาหักล้างภายใน 120 วัน จำเลยไม่ชำระหนี้และไม่นำหลักฐานหรือใบสำคัญมาหักล้างภายในกำหนด ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 180,045 บาท 75 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ยักยอกเงินของบริษัทโจทก์ ยอดเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 เป็นยอดเงินที่ใช้จ่ายไปจริง ส่วนมากมีใบรับรองการจ่ายเงินซึ่งจำเลยมอบให้ผู้ทำบัญชีไปแล้ว จึงเพียงแต่หาใบสำคัญมาหักล้างหรือหลักฐานอื่นมาแสดง ไม่ได้หมายความว่าถ้าหากจำเลยหามาไม่ได้จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนนี้ ฉะนั้น จึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 180,045 บาท 75 สตางค์ แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของบริษัทโจทก์ที่ให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 จำนวนเงิน 130,045 บาท 75 สตางค์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 132 บัญญัติว่า “ในการตีความแสดงเจตนานั้น ทำให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร” ความประสงค์หรือเจตนาของคู่สัญญาต้องแปลจากสัญญาทั้งฉบับ ไม่ใช่ยกเอาเฉพาะตอนใดตอนหนึ่ง หรือสัญญาข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมาแปล ปรากฏว่าจำเลยถูกโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครใต้ในข้อหาว่ายักยอกเงินโจทก์ไป 214,787 บาท 8 สตางค์ ระหว่างพิจารณาคดีอาญา โจทก์จำเลยจึงมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ตามสัญญาข้อ 1. จำเลยยอมรับผิดใช้เงินจำนวน 50,000 บาท เพื่อเป็นการชดเชยยอดเงินที่ขาดบัญชี จ่ายซ้ำสองครั้ง ส่วนตามสัญญาข้อ 2.เป็นยอดเงินที่ใช้จ่ายไปโดยไม่มีใบสำคัญอีกจำนวน 130,045 บาท 75 สตางค์ ฝ่ายโจทก์ยอมให้จำเลยไปจัดหาใบสำคัญมาหักล้างหรือหลักฐานอื่นอันแสดงว่าไม่ได้ใช้จ่ายไปมาแสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการบริษัทภายในระยะเวลา 120 วัน เห็นว่าแม้จะไม่มีข้อความต่อไปว่าถ้ามาไม่ได้ภายในกำหนดจำเลยจะต้องชดใช้เงินให้โจทก์ แต่ก็เห็นเจตนาของโจทก์ จำเลยได้ว่าต้องการระงับคดีอาญาโดยจำเลยต้องใช้เงินตามจำนวนในสัญญาข้อ 1. และ ข้อ 2. ให้โจทก์ จึงได้เขียนในข้อ 3. ไว้ว่า ฝ่ายโจทก์ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยต่อไปอีกเป็นการตอบแทนซึ่งกันและกัน ยอดเงินที่ขาดบัญชีไปตามข้อ 1. นั้น จำเลยจึงต้องรับผิดไม่มีปัญหา แต่ยอดเงินตามข้อ 2 . นั้น ยังมีปัญหาว่าจำเลยใช้จ่ายไปจริงหรือไม่ ถ้าไม่ได้ใช้จ่ายไปจริงจำเลยก็ต้องชดใช้ให้โจทก์โจทก์จึงให้โอกาสจำเลยไปหาใบสำคัญมาแสดงอันเป็นการแสดงเจตนาแก่จำเลยว่า ถ้าจำเลยหาใบสำคัญหรือหลักฐานการใช้เงินมาแสดงได้โจทก์ยอมหักเงินให้จำเลย ถ้าจำเลยหามาไม่ได้ก็ต้องรับผิดในเงินยอดนั้น อันเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ถ้ายอดเงินตามข้อ 2. ไม่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเลยจะต้องรับผิดแล้ว จะเขียนสัญญาประนีประนอมข้อ 2. ไว้เพื่อเหตุใด และถ้าจำเลยจะยอมใช้เงินเพียง 50,000 บาท ตามยอดในข้อ 1. แล้ว โจทก์คงไม่ยอมระงับคดีอาญาให้จำเลยตามคำให้การจำเลยก็รับว่าเงินที่ขาดบัญชีเพราะผู้ทำบัญชีไม่สุจริต และบริษัทโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยกับเถียงอยู่ว่าได้ใช้เงินไปจริง แสดงว่าจำเลยรู้อยู่แก่ใจว่ารายการจ่ายที่ไม่มีหลักฐานการจ่ายตามข้อ 2. นี้อยู่ในความรับผิดของจำเลย ที่จำเลยอ้างในคำแก้ฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีข้อสงสัย ท่านให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น” เห็นว่าข้อความตามสัญญาประนีประนอมข้อ 2. และข้อ 3 ตามพฤติการณ์ของคดีตีความได้ว่าโจทก์มีเจตนาให้จำเลยใช้เงินที่ใช้จ่ายไปโดยไม่มีใบสำคัญเป็นจำนวนเงิน 130,045 บาท 75 สตางค์ ซึ่งจำเลยก็รับว่าได้ใช้จ่ายไปจริง แต่จำเลยยังต่อสู้อยู่โจทก์จึงให้จำเลยไปหาใบสำคัญมาแสดง เมื่อหามาไม่ได้ภายในระยะเวลา 120 วันก็ต้องถือว่าจำเลยยอมรับผิด ซึ่งตรงกับเจตนาอันแท้จริงของโจทก์จำเลยในการทำสัญญาประนีประนอมตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าว กรณีไม่เข้ากรณีที่มีข้อสงสัย จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 130,045 บาท 75 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับไป

Share