คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กู้เงินเกิน 50 บาท แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ไม่เป็นโมฆะเพียงแต่ฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้เท่านั้น ผู้กู้สลักหลังเช็คชำระหนี้แก่ผู้กู้ จึงมีมูลหนี้ บังคับตามเช็คได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 71,156 บาท ตามเช็คแก่โจทก์กับดอกเบี้ยในต้นเงิน 69,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่มีมูลหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ผู้สลักหลังเช็คแก่โจทก์ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้จำเลยที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สลักหลังแล้วจำเลยที่ 3ได้สลักหลังมอบให้โจทก์

คดีคงมีปัญหาว่า การที่จำเลยที่ 3 โอนเช็คพิพาทให้โจทก์นั้น จำเลยที่ 3กับโจทก์มีมูลหนี้ต่อกันหรือไม่ และเป็นการโอนด้วยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยที่ 1หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า รู้จักและเป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 3 มาตั้งแต่เด็ก ๆ ติดต่อค้าขายกันเรื่อยมา จำเลยที่ 3 ได้สลักหลังเช็คพิพาทมอบให้โจทก์เป็นการชำระหนี้เงินที่จำเลยที่ 3 กู้จากโจทก์ไป พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก ๆ และค้าขายติดต่อกันเรื่อยมา ความคุ้มเคยและความไว้ใจซึ่งกันและกันย่อมมีมากเป็นธรรมดา กรณีที่ไม่ปรากฏการเบิกเงินจำนวน80,000 บาท ในรายการบัญชีเงินฝากของโจทก์ตามเอกสาร ล.1 หาได้หมายความว่าโจทก์มิได้ให้จำเลยที่ 3 กู้เงินจำนวนดังกล่าวไม่ เพราะโจทก์อาจเบิกเงินจากธนาคารหลายครั้งมาให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งรวมกันแล้วเป็นจำนวน 80,000 บาทก็ได้ ศาลฎีกาเชื่อว่า มีการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 โดยมิได้ทำหลักฐานกันไว้ดังโจทก์นำสืบ แม้การกู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้แห่งการกู้ยืมก็ไม่ตกเป็นโมฆะ เพียงแต่ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้เท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3สลักหลังเช็คพิพาทโอนชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวแก่โจทก์ จึงเป็นการโอนเช็คโดยมีมูลหนี้ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 3 เป็นการคบคิดกันฉ้อฉลและไม่สุจริตนั้น จำเลยไม่มีพยานมานำสืบพิสูจน์แต่ประการใด เป็นข้อกล่าวอ้างลอย ๆ รับฟังไม่ได้ ฉะนั้น จำเลยที่ 1ในฐานะผู้สังจ่ายเช็คพิพาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้สลักหลัง จึงต้องร่วมรับผิดใช้เงินตามเช็คให้โจทก์ตามฟ้อง”

พิพากษากลับ บังคับตามศาลชั้นต้น

Share